(เพิ่มเติม) คลังกระตุ้น 6 แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อเพิ่ม หวังทั้งปีดัน GDPโตเพิ่ม 0.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2009 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง สามารถปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบไปแล้ว 622,000 ล้านบาท คิดเป็น 99.5% จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 625,500 ล้านบาท จึงได้เพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อให้อีก 301,500 ล้านบาท ซึ่งจึงทำให้ในปี 52 สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะสามารถปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบได้ถึง 927,000 ล้านบาท

นายกรณ์ ระบุว่า หากสถาบันการเงินดังกล่าวจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศปีนี้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.5-0.9%

ทั้งนี้ พบว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่งสามารถปล่อยสินเชื่อได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่รัฐบาลต้องการให้สถาบันการเงินเหล่านี้ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

"หากแบงก์เฉพาะกิจของรัฐสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย ถ้าคิดเป็นอย่างน้อยสามารถเบิกจ่ายได้ภายในสิ้นปีนี้คิดเป็น 70% ของเป้าหมาย ก็จะช่วยให้จีดีพีโตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.5%" รมว.คลัง กล่าว

การเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว จะทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 730,000 ราย แยกเป็นเกษตรกร 175,000 ราย, ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย 550,000 ราย ผู้ประกอบการ SMEs และท่องเที่ยว 3,000 ราย และผู้ส่งออกอีก 1,500 ราย

สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(Exim Bank) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

และวันนี้ รมว.คลัง ได้เป็นประธานเปิดโครงการสินเชื่อ Fast Track 1ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเร่งการอนุมัติสินเชื่อให้บรรลุเป้าหมายการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม เพื่อทดแทนการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง โดยมีการออก 14 มาตรการเพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประชาชนฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการเกษตร ท่องเที่ยว ส่งออก และอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่

เร่งการอนุมัติสินเชื่อของทุกธนาคารภายใน 3, 5, 7, 15 หรือ 21 วัน ตามประเภทและขนาดของ วงเงินสินเชื่อ โดยกระจายอำนาจในการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อให้กับระดับสาขา , ปรับปรุงแบบฟอร์มและขั้นตอนการขออนุมัติสินเชื่อให้กระชับขึ้น , เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1.75 % ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ในปีแรก

เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ โดยขยายวงเงินจาก 20 ล้านบาทเป็น 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน, ให้ธนาคารออมสินเข้าร่วมการอำนวยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เนื่องจากมีสาขากระจาย ทั่วประเทศ, ให้ เอสเอ็มอีแบงก์ และ ธ.ออมสินผ่อนปรนเงื่อนไขในการอำนวยสินเชื่อกับผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการดีก่อนวิกฤต, โครงการธนาคารประชาชนโดย ธ.ออมสิน อำนวยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย โดยมีเป้าหมาย 500,000 ราย

โครงการสินเชื่อห้องแถว โดย ธ.ออมสิน อำนวยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย โดยมีเป้าหมาย 50,000 ราย, เอ็กซิมแบงก์ อำนวยสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู่ส่งออก โดยผ่อนปรนให้ใช้คำสั่งซื้อสินค้า (P/O) หรือ Letter of Credit (L/C) เป็นเงื่อนไขประกอบการพิจารณาใช้วงเงิน, ให้ เอ็มซิมแบงก์ พิจารณาการให้สินเชื่อแบบครบวงจรทั้งผู้ซื้อสินค้าในต่างประเทศหรือ Supplier

ธ.ก.ส. อำนวยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการระดับจุลภาค, ธ.ก.ส. อำนวยสินเชื่อเพื่อรองรับโครงการรับประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ สินเชื่อ เพื่อปรับปรุงยุ้งฉาง และจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนรอการขายผลผลิต, ธอส. อำนวยสินเชื่อสำหรับการซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือซื้อห้องชุดพร้อมโอน และ I-Bank อำนวยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อไถ่ถอนที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมีการติดตามผลอนุมัติวงเงินและการเบิกจ่ายจริงของสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 6 แห่ง เป็นรายเดือน โดยวางเป้าหมายให้มีการปล่อยสินเชื่อให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80% จากเป้าหมายที่กำหนดไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ