โตโยต้า มอเตอร์ เปิดเผยว่า บริษัทจะปิดโรงงานประกอบรถในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนกับเจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ที่เปิดดำเนินการมาเป็นเวลานานถึง 25 ปี นับเป็นครั้งแรกที่โตโยต้าตัดสินใจปิดโรงงานไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ
โรงงานร่วมทุนดังกล่าว หรือที่มีชื่อว่า นิว ยูไนเต็ด มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อิงค์ (Nummi) จะยุติการผลิตรถ Corolla และรถกระบะรุ่น Tacoma ในเดือนมี.ค. 2553 หลังจากที่จีเอ็มได้เปิดเผยเมื่อเดือนมิ.ย.ว่า จะปิดสายการผลิตรถ Pontiac Vibes ที่โรงงานดังกล่าว รวมทั้งการยกเลิกการร่วมทุนในโรงงานตามกระบวนการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย
บลูมเบิร์กรายงานว่า ยอดขายในสหรัฐที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่พ.ศ.2519 ทำให้โตโยต้า ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถรายใหญ่สุดของโลกมีปัญหาในการเก็บโรงงานในอเมริกาเหนือไว้ การปิดโรงงานที่อ่าวซานฟรานซิสโกแห่งนี้จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้รับผลพวงจากอัตราว่างงานที่ 11.9% อยู่แล้ว
ยูกิ ซากุราอิ ซีอีโอของฟูโกกุ แคปิตอล แมเนจเมนท์ กล่าวว่า โตโยต้าคงจะไม่สามารถดูและและเก็บโรงงานแห่งนี้ไว้แต่เพียงลำพังได้ โรงงานแห่งนี้ต้องใช้ต้นทุนในการดำเนินการและยังอยู่ในระบบสหภาพพนักงาน ดังนั้นการตัดสินใจปิดโรงงานจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว
โรงงานมีพนักงาน 5,400 คน ซึ่งรวมถึงสมาชิกของสหภาพพนักงานยานยนต์ด้วย 4,5550 คน และมีซัพพลายเออร์กว่า 1,000 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆจำนวน 523 ล้านดอลลาร์ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานเมื่อถูกออกจากงาน