นายกฯเชื่อศก.พ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ห่วงปัญหาน้ำมัน-การเมือง ฉุดศก.อีก

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday August 30, 2009 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯอภิสิทธิ์" ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/52 ติดลบ 4.9% ซึ่งติดลบลดลงจากไตรมาส 1/52 จึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/52 เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวกได้ และทั้งปี คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 2-3.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้เห็นว่าตัวชี้วัดเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เริ่มดีขึ้น ทั้งเศรษฐกิจโลก การจ้างงานในประเทศ ที่อัตราการว่างงานชะลอลง บางอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณการจ้างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่เชิงนโยบาย รัฐบาลยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องเดินหน้าใช้จ่ายงบประมาณ และเดินหน้าโครงการลงทุน ตามแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

"เศรษฐกิจที่เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ประคองเศรษฐกิจ ดังนั้นในทางปฏิบัติ ต้องให้มีเม็ดเงินลงสู่การปฎิบัติอย่างรวดเร็ว" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ยังมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง ที่จะกระทบเศรษฐกิจ คือราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่รัฐบาลพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมเข้ามาดูแลราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลมีการเก็บภาษี และมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้รัฐบาลมีกำลังเพียงพอที่จะบริหารราคาน้ำมัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้ว่าจะดูแลไม่ให้น้ำมันดีเซลเกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้มีการปรับเพิ่มของราคาค่าขนส่งและด้านอื่นๆ

ส่วนการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่แม้อัตราผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่ ในต่างประเทศ ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงยังเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วงและรัฐบาลต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการะบาดในพื้นที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทบางพื้นที่ เพราะการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ และภาคการท่องเที่ยว

สำหรับปัจจัยการเมือง ยอมรับว่า หากการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ จะไม่มีเรื่องกังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่หากการเมืองยังมีความวุ่นวาย จะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และประชาชนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในประเทศ และการประกาศ ใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะชุมนุมใหญ่ในวันนี้ และประกาศจะปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องปราม และกระทบสิทธิของประชาชนน้อยที่สุด

"การชุมนุมจะต้องอยู่ในกฎหมาย ไม่กระทบ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ไม่มีความรุนแรง และไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาที่ทำกินของประชาชน โดยนำแนวทางใหม่ เรื่องโฉนดชุมชน จะมีการออกเอกสารสิทธิ์ ใช้โฉนดชุมชนให้ประชาชนที่ยากจน คาดว่าใน 2 สัปดาห์ จะมีการออกระเบียบบริการโฉนดชุมชน เพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณา เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ดินทำกินในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้า ตนเอง จะได้ลงพื้นที่ จ.ปทุมธานี ที่เป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรเช่าในราคาถูก

นอกจากนี้ รัฐบาล ยังเร่งดำเนินโครงการแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร ปรับเปลี่ยนแปลงวิธีการแทรกแซง จากการรับจำนำ ที่มีปัญหา ทำลายกลไกตลาด มาเป็น การประกันราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งแนวทางนี้ได้ผลดี เพราะช่วยเหลือเกษตรกรทุกครัวเรือนเป็นครั้งแรก จากระบบรับจำนำ จะมีโควต้าการรับจำนำ แต่การประกันราคา จะทำให้เกษตรกรทุกรายได้ประโยชน์ ได้รับเงินสดทันที จากการชดเชยราคาส่วนต่าง คูณด้วยปริมาณ ตามวิธีคำนวณ ลดภาระของรัฐบาลในการบริหารจัดการสต็อค เพื่อให้กลไกซื้อขายกลับมาปกติ ลดการสูญเสียความสามารถการแข่งขันให้ต่างประเทศ

" เช่น ข้าวเวียดนาม วิธีนี้ลดช่องว่าง ข้าวไทยแข่งขันมากขึ้น และระบบประกัน หากชัดเจน จะให้ปีละสองรอบ จะค่อย ๆจูงใจให้เกษตรกรเลือกปลูกข้าวตามความต้องการของตลาด มากกว่าความรวดเร็วของรอบปลูกข้าว " นายกรัฐมนตรี กล่าว

และในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเปิดตัวโครงการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) จะมีการกำหนดเป้าหมาย ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง การนำวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ มาเพิ่มคุณค่าผลิตสินค้าและบริการ มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรับปรุงแบบสินค้าและบริการ เพื่สร้างโอกาสและรายได้โดยไม่ใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ