นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายประเทศในอาเซียนเริ่มบรรจุแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน โดยการประชุมคณะกรรมาธิการเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone Treaty : SEANWFZ) ณ กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า มี10 ประเทศในเอเชีย และ 5 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ครอบครอง ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน มีข้อตกลงร่วมกันสำหรับประเทศที่มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าจะไม่มีการพัฒนาที่นำไปสู่การทำอาวุธนิวเคลียร์จากการเสริมสมรรถนะ (Enrichment) ของยูเรเนียม และการแปรสภาพ (Reprocessing) ของเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว
นอกจากนี้ยังสนับสนุนสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat : ASEC) ในการติดตามความคืบหน้าพัฒนาการด้านพลังงานนิวเคลียร์ของกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นหน่วยงานให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่ถูกต้อง
ความคืบหน้าของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเอเชียหลายประเทศได้มีการวางแผนแล้ว และบางประเทศแม้จะมีการเลื่อนโครงการออกไปแต่ก็ยังคงบรรจุไว้ในแผนพลังงานของประเทศ
โดยการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ในด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย การเลือกใช้เทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน กระทรวงพลังงานจะนำเสนอผลการศึกษาต่อรัฐบาลอีกครั้งประมาณปลายปี 2553 หรือต้นปี 2554
ขณะที่ประเทศในเอเซียอื่น เช่น มาเลเซีย มีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ร่างไว้ในแผนและนโยบายด้านพลังงานของประเทศ และอาจพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า ส่วนเวียดนาม ได้บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ และกำหนดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2563 ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ตามแผนด้านพลังงานยังคงให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แม้ว่าจะมีการประกาศเลื่อนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากเดิมในปี 2560 เลื่อนเป็นปี 2568 ด้วยเหตุผลด้านการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ
สำหรับสหภาพพม่า ได้พบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมากบริเวณเมาะตะมะ และเบงกอล พร้อมกับมีแนวทางส่งก๊าซฯ จำหน่ายให้กับประเทศจีน ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศโดยกำหนดให้ใช้ฐานทรัพยากรจากก๊าซธรรมชาติเป็นตัวเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบโลจิสติกส์ของประเทศในทศวรรษต่อไป แต่เชื่อว่าสหภาพพม่าน่าจะยังไม่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในขณะนี้
นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศอื่นที่ยังมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเติม ได้แก่ จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ โดยหลักการที่ประเทศส่วนใหญ่เห็นร่วมกันถึงการจัดหาและกระจายแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นเหตุผลสำคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ