นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐชี้พรรคดีพีเจเจอศึกหนักในการลดตัวเลขว่างงาน-แก้ปัญหาศก.ญี่ปุ่น

ข่าวต่างประเทศ Monday August 31, 2009 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐระบุว่า พรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (ดีพีเจ) ภายใต้การนำของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นอย่างถล่มทลาย อาจมีทางเลือกเพียงเล็กน้อยในการแก้ไขอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์และภาวะเงินเฟ้อที่กำลังขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ผลการนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า พรรคดีพีเจซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้รับชัยชนะเหนือพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายทาโร อาโสะ โดยพรรคดีพีเจได้ที่นั่งทั้งสิ้น 308 ที่นั่ง จากที่นั่งในสภาทั้งหมด 480 ที่นั่ง ขณะที่นายฮาโตยามะให้คำมั่นสัญญาภายหลังรู้ผลการเลือกตั้งว่า เขาจะพยายามลดการออกพันธบัตรรัฐบาลและมุ่งเน้นการสร้างงาน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับพรรคแอลดีพีมุ่งเน้นการออกพันธบัตรรัฐบาลเป็นยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ฮิวจ์ แพทริค อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก กล่าวว่า "พรรคดีพีเจต้องเจอศึกหนักในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.7% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากดีมานด์ที่หดตัวลงทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวช้ามาก และตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคก็หดตัวลงรุนแรงสุดในรอบ 5 ปี สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันมาพึ่งพาภาคส่งออกมากขึ้น แต่ยอดส่งออกของญี่ปุ่นก็ร่วงลงอีก 36.5% ในเดือนก.ค. "

"เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยรุนแรงแล้วก็จริง แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันให้กับพรรรคที่จะก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีความท้าทายอื่นๆอีกมากมายที่รออยู่ รวมถึงการลดตัวเลขขาดดุล ดังนั้นสถานการณ์การเมืองของญี่ปุ่นในอีก 9-10 เดือนข้างหน้าจึงน่าจับตาดูเป็นอย่างยิ่ง" แพทริคกล่าว

ขณะที่เอ็ดเวิร์ด ลินคอล์น คณบดีภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับนายวอลเตอร์ แมนเดล อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่น กล่าวว่า "พรรคดีพีเจให้คำมั่นสัญญากับประชาชนในสิ่งที่ไกลเกินกว่าที่จะทำสำเร็จในเร็ววันได้ หากทางพรรคไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้และหากเศรษฐกิจยังคงหดตัว ช่วงฮันนีมูนของพรรคดีพีเจก็ต้องสั้นลงอย่างแน่นอน"

นอกจากนี้ ไมเคิล เทย์เลอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัยลอมบาร์ด สตรีท กล่าวว่า "เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกมานานแล้ว รวมถึงปัญหาระบบบำเน็จบำนาญและการจัดสรรเงินให้กับประชากรที่เกษียณอายุงาน ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยเวลา เท่ากับว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นมีงานใหญ่รออยู่" บลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ