(เพิ่มเติม) *พาณิชย์ เผย CPI เดือน ส.ค.52 ลดลง 1.0%, Core CPI ลดลง 0.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 1, 2009 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ส.ค.52 อยู่ที่ 105.1 ลดลง 1.0% จากเดือน ส.ค.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือน ก.ค.52 ส่วน CPI เฉลี่ยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.52) ลดลง 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ส.ค.52 อยู่ที่ระดับ 102.5 ลดลง 0.2% จากเดือน ส.ค.51 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ก.ค.52 และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.52) ยังเพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ส.ค.52 อยู่ที่ 115.9 เพิ่มขึ้น 1.4% จากเดือน ส.ค.51 แต่ลดลง 0.1% จากเดือน ก.ค.52 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 97.8 ลดลง 3.3% จาก ส.ค.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.5% จาก ก.ค.52

หากเทียบดัชนีผู้บริโภคทั่วไป ส.ค.52 ที่ลดลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.0% เป็นอัตราลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ที่ลดลง 10% เช่นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ และอุปกรณ์ยานพาหนะ นอกจากนี้ หมวดด้านการศึกษา เช่นค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ยังลดลง 10.2% รวมถึงหมวดเครื่องนุ่งห่ม เช่นเครื่องแบบนักเรียน ลดลง 3.4%

ส่วนดัชนีผู้บริโภคทั่วไป ส.ค.52 เมื่อเทียบ ก.ค.52 สูงขึ้น 0.4% เป็นภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ มีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากราคาอาหารและสินค้าบางรายการที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว ไข่ วัสดุก่อสร้าง ค่ายาและเวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ส่วนสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ผัก ผลไม้สด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์ยานพาหนนะ

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อ ส.ค.52 เริ่มมีอัตราการติดลบที่น้อยลง เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอัตราเงินเฟ้อติดลบสูง จากราคาน้ำมันในปี 51 อยู่ในระดับที่สูงผิดปกติ และได้เริ่มปรับลดลงหลังจากช่วงกลางปี 51 ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้ จึงทำให้อัตราการติดลบของเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงในช่วงปลายปี 52

แต่การที่เงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน ยังไม่ได้แสดงว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะไม่ได้เป็นการลดลงจากภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากพบว่าราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากเป็นภาวะเงินฝืด ราคาสินค้าส่วนใหญ่ต้องมีแนวโน้มลดลง และประชาชนจะชะลอการซื้อสินค้า แต่จากแนวโน้มตั้งแต่ เม.ย.52 พบว่าราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่นำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ยังปรับตัวสูงขึ้นกว่า 200 รายการ จากจำนวนสินค้าทั้งหมด 417 รายการ

ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงต่อจากนี้ไป คาดว่า ก.ย.52 อัตราเงินเฟ้อจะยังคงติดลบ และจะเริ่มปรับตัวเป็นบวกในเดือน ต.ค.-ธ.ค.52

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 ยังคงคาดการณ์ว่ายังอยู่ในกรอบที่ติดลบ 1-0% เป็นการคำนวณจากสมมติฐานสำคัญ คือ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35-36 บาท/ดอลลาร์ โดยขณะนี้ยังพบว่าทั้งสองปัจจัยยังอยู่ในสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 8 เดือนอยู่ที่ 55.76 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.73 บาท/ดอลลาร์

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.52 จะติดลบเล็กน้อย ขณะที่ เดือน ต.ค.52 คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกประมาณ 0.1% และ พ.ย.-ธ.ค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ระดับใกล้เคียง 2% เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 เฉลี่ยอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ติดลบ 1-0%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ