นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เร็กกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ เตรียมว่าจ้างบริษัทเอกชนทำการโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ประกอบด้วย ไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(FT)ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบกิจการพลังงาน ที่ปัจจุบันมีใบอนุญาต 5 ประเภท ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า ระบบจำหน่ายไฟฟ้า ศูนย์สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า และ การจำหน่ายไฟฟ้า
คณะกรรมการคาดว่าจะคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาได้ภายในเดือน ก.ย.52 และจะใช้เวลาศึกษา 12 เดือน เพื่อให้พร้อมใช้ในปี 2554-2558 ซึ่งบริษัทที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาขั้นสุดท้าย 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท ซีอาร์เอ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท ฟอร์นเทียร์ อีโคโนมิกส์ และบริษัทเนราอีโคโนมิกส์
นางพัลลภา กล่าวอีกว่า แนวทางการศึกษาจะเน้นถึงต้นทุน FT ที่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ค่าซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน เงินกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า เงินค่าซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม เพื่อให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงอย่างแท้จริง และการพิจารณาค่า FT ว่าควรประกาศรอบเดียวใน 12 เดือนได้หรือไม่ จากที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันลงได้
ค่า FT รูปแบบใหม่ไม่ควรนำเรื่องการซื้อไฟฟ้าเอกชนมารวมอยู่ด้วย โดยจะรวมกับไฟฟ้าฐานที่มาจากต้นทุนก่อสร้าง และการปรับโครงสร้างไฟฟ้าฐานที่แบ่งตามประเภทกิจการของใบอนุญาตธุรกิจไฟฟ้า จะสะท้อนต้นทุนมากขึ้น และเพื่อให้โครงสร้างมีการใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และขยายการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าจากเดิมปรับทุก 3 ปีเป็น 5 ปี
ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกในปัจจุบันประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานที่ระดับ 2.25 บาท/หน่วย ขณะที่ค่า FT เปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน ซึ่งจะคำนวณตามค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า โดยขณะนี้ FT อยู่ที่ 92.55 สตางค์/หน่วย แต่จากการที่รัฐบาลได้สั่งตรึงราคาค่าไฟฟ้าไปจนถึงเดือน ส.ค.53 ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่รวมระหว่างไฟฟ้าฐานและ FTยังคงที่เท่ากับ 3.17 บาท/หน่วย