นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อพื้นฐานไตรมาส 4/52 จะอยู่ที่ 0.3% ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ที่กำหนดไว้ที่ 0.5-3% และคาดเงินเฟ้อพื้นฐานกลับสู่เป้าหมายได้ในปลายปี 53
ทั้งนี้ ธปท.ได้ประเมินภาพรวมเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นรายไตรมาสในระยะข้างหน้า มองว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมา มีมติไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กนง.ได้วางนโยบาย เพื่อรักษาเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในเป้าหมายได้ค่อนข้างประสบผลสำเร็จ แม้บางช่วงเงินเฟ้อพื้นฐานจะหลุดจากกรอบเป้าหมายไปบ้าง
ส่วนภาพรวมปี 53 เชื่อว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจปัจจุบัน น่าจะสร้างเสถียรภาพในแง่การคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า และการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ดังนั้นจากข้อมูลปัจจุบัน กนง.จึงไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยนโยบาย จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่ มาให้พิจารณา
"เงินเฟ้อที่อยู่นอกเป้าหมาย เป็นหน้าที่ กนง.ต้องดูแล โดยใช้นโยบายเหมาะสมเพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย... การที่เงินเฟ้อ ขึ้นๆ ลงๆ ธปท.คงปรับดอกเบี้ยตอบสนองตามคงไม่ได้ เพราะเงินเฟ้อ เป็นปัญหาชั่วคราว การปรับดอกเบี้ยขึ้นลง จะสร้างความผันผวนโดยไม่จำเป็น" นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่าในปลายปี 52 ธปท. จะหารือกับ รมว.คลัง เพื่อกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ปี 53 ใหม่ แต่โดยทั่วไปประเทศที่มีนโยบายกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Targetting Inflation) จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อบ่อยครั้ง เพราะจะสร้างความสับสนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของเสถียรภาพด้านราคา ดังนั้นทางการจะต้องทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ผู้ผลิต เข้าใจและคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดเความสับสนในการกำหนดราคาสินค้า และให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
"บางประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จะมีปัญหาระยะยาว เติบโตไม่ยั่งยืน ดังนั้นของไทย เราต้องสร้างเสถียรภาพด้านราคาด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาจได้ผลเร็ว แต่ระยะยาวเศรษฐกิจจะชะลอตัวได้ เราอยากทอดสมอให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน" นายไพบูลย์ กล่าว