(เพิ่มเติม) ธปท.คาด Q4/52 เงินเฟ้อพื้นฐาน 0.3% ทั้งปี 1.4%, เข้าเป้าหมายปลายปี 53

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 2, 2009 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไตรมาส 4/52 จะอยู่ที่ 0.3% ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่กำหนดไว้ในระดับ 0.5-3.0% และคาดเงินเฟ้อพื้นฐานจะกลับเข้าสู่ในกรอบเป้าหมายได้ในช่วงปลายปี 53

ทั้งนี้ ธปท.ได้ประเมินภาพรวมเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นรายไตรมาสในระยะข้างหน้า มองว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่ผ่านมามีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กนง.ได้วางนโยบายเพื่อรักษาเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในเป้าหมายได้ค่อนข้างประสบผลสำเร็จ แม้บางช่วงจะหลุดจากกรอบไปบ้าง

ส่วนภาพรวมปี 53 เชื่อว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจปัจจุบันน่าจะสร้างเสถียรภาพในแง่การคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า และการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ดังนั้น จากข้อมูลปัจจุบัน กนง.จึงไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายจนกว่าจะมีข้อมูลใหม่มาให้พิจารณา

"เงินเฟ้อที่อยู่นอกเป้าหมายเป็นหน้าที่ กนง.ต้องดูแล โดยใช้นโยบายเหมาะสมเพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย...การที่เงินเฟ้อ ขึ้นๆ ลงๆ ธปท.คงปรับดอกเบี้ยตอบสนองตามคงไม่ได้ เพราะเงินเฟ้อเป็นปัญหาชั่วคราว การปรับดอกเบี้ยขึ้นลงจะสร้างความผันผวนโดยไม่จำเป็น"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ในปลายปี 52 ธปท.จะหารือกับ รมว.คลัง เพื่อกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อปี 53 ใหม่ แต่โดยทั่วไปประเทศที่มีนโยบายกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ(Targetting Inflation)จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อบ่อยครั้ง เพราะอาจสร้างความสับสน เนื่องจากเป็นเรื่องของเสถียรภาพด้านราคา ดังนั้น ทางการจะต้องทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ผู้ผลิต เข้าใจและคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดเความสับสนในการกำหนดราคาสินค้า และให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

"บางประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จะมีปัญหาระยะยาว เติบโตไม่ยั่งยืน ดังนั้นของไทย เราต้องสร้างเสถียรภาพด้านราคาด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาจได้ผลเร็ว แต่ระยะยาวเศรษฐกิจจะชะลอตัวได้ เราอยากทอดสมอให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน" นายไพบูลย์ กล่าว

ธปท. ได้ออกเอกสารเรื่องการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน ประจำปี 52 โดยระบุว่า การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. เน้นเรื่องการดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อที่วัดด้วย Core inflation เฉลี่ยรายไตรมาส โดยปกติจะไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายสำหรับปัจจัยชั่วคราว(Temporary factors)หรือปัจจัยที่มาจากนโยบายและไม่ได้เกิดจากกลไกตลาด เช่น เรื่องมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ที่จะส่งผลต่อเงินเฟ้อในช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่มุ่งที่จะดูแลสิ่งที่เป็น underlying pressure ที่มีผลต่อระดับราคาของประเทศเป็นสำคัญ ที่จะทำให้เงินเฟ้อของประเทศเบี่ยงเบนจากเป้าหมาย

และการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินแต่ละครั้ง กนง.จะพิจารณาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะ 8 ไตรมาสข้างหน้า รวมทั้งข้อมูลสำคัญอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ในการวัดผลของการดำเนินนโยบายการเงิน สามารถดูได้จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเทียบกับช่วงเป้าหมายที่ประเทศ โดยตั้งแต่ พ.ค.43-ส.ค.52 กนง.กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาส ที่ 0-3.5% ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาส เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงเป้าหมายมาโดยตลอด

ยกเว้นในไตรมาส 2/52 ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลออกมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ทั้ง 6 มาตรการ 6 เดือน และนโนบายเรียนฟรี 15 ปี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงลดลงมากและรวดเร็ว แต่ถ้าหักผลของมาตรการภาครัฐออกไป เงินเฟ้อพื้นฐานในปัจจุบันจะอยู่ที่ 0.5% ซึ่งเป็นขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ที่ ครม.อนุมัติ ไว้ที่ 0.5-3%

ทั้งนี้ ช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานใหม่ ที่ 0.5-3% เป็นระดับที่ไม่สูงจนบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงมักจะมาพร้อมความผันผวนที่สูง ซึ่งนอกจากจะมีผลบั่นทอนอำนาจซื้อของประชาชนแล้ว ยังเพิ่มความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจ และส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ระดับดังกล่าวยังสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง เฉลี่ยที่ 2% เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ