นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ตรวจสอบสต๊อกเอทานอลของโรงงานเอทานอลทั้งหมด 16 แห่ง และของผู้ค้าน้ำมัน พบว่ามีปริมาณเอทานอลรวม 48 ล้านลิตร ซึ่งสามารถรองรับความต้องการใช้ได้ 1 เดือนครึ่ง ขณะเดียวกันโรงงานผลิตเอทานอลทั้ง 16 แห่ง ยังผลิตเอทานอลป้อนความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง
สต็อกเอทานอลเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 42 ล้านลิตร เดือน ต.ค.อยู่ที่ 38.6 ล้านลิตร เดือน พ.ย. อยู่ที่ 28.7 ล้านลิตร และในเดือนธ.ค.สต็อกเอทานอลจะเพิ่มเป็น 41.8 ล้านลิตร เนื่องจากเป็นช่วงเปิดหีบอ้อย ซึ่งจะมีกากน้ำตาล เพื่อใช้ในการผลิตเอทานอลออกสู่ตลาดมากขึ้น
"เอทานอลอาจจะตึงตัวในช่วงเดือน พ.ย.แต่ก็ยังเพียงพอกับความต้องการใช้ที่อยู่ในระดับ 1.2 ล้านลิตร/วัน หรือเดือนละ 35-36 ล้านลิตร เพราะนอกจากมีสต็อกเอทานอลแล้ว ในแต่ละวันยังมีการผลิตเอทานอลออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง"นายพรชัย กล่าว
และ เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานยังได้ทำหนังสือไปยังโรงงานเอทานอลทุกแห่ง และสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เพื่อขอความร่วมมือให้ชะลอการส่งออกเอทานอลในไตรมาส 3 และ 4 เพื่อให้มีเอทานอลเพียงพอใช้ในประเทศ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
นายพรชัย กล่าวอีกว่าราคาเอทานอลนั้น ขณะนี้มีการซื้อขายที่ราคา 24-25 บาท/ลิตร คาดว่าจะทรงตัวในระดับนี้ต่อไปจนถึงช่วงเปิดหีบอ้อย จากนั้นมีโอกาสที่ราคาเอทานอลจะปรับลดลงได้
ทั้งนี้ของกระทรวงพลังงานพยายามส่งเสริมให้โรงงานเอทานอลใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายขึ้น นอกเหนือจากกากน้ำตาล เช่นแป้งมัน เพื่อให้มีวัตถุดิบใช้ป้อนโรงงานอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เพราะในส่วนของกากน้ำตาลจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเปิดหีบ คือ ธ.ค. — ก.พ.ของทุกปี จากนั้นปริมาณกากน้ำตาลจะเริ่มลดลง ขณะที่มันสำปะหลังจะออกมาสู่ตลาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ต่อเนื่องกันพอดี
ขณะนี้มี 3 โรงงานที่พยายามใช้แป้งมันเป็นวัตถุดิบ โดยเข้าไปประมูลซื้อแป้งมันตามโครงการแทรกแซงราคาของกระทรวงพาณิชย์ รวม 3 ราย โดยโรงงานขอนแก่นได้เข้าประมูลมันสำปำหลังในสต็อครัฐบาลแล้ว 30,000 ตัน โดยเสนอราคาที่ 7.75 บาท/กิโลกรัม ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการราคาสูงกว่านี้ จึงไม่ได้รับการจัดสรร
ส่วนโรงงานอีกสองรายอยู่ระหว่างการเข้าประมูลในรอบต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ดรงงานผลิตเอทานอลทั้งสามแห่งอาจประมูลมันสำปะหลังจากรัฐบาลไม่ได้ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ต้องการขายในราคาเป้าหมาย เพื่อดึงราคามันทั้งตลาดให้สูงขึ้น ขณะที่โรงงานเอทานอลมองว่าควรให้ราคาที่เหมาะสม และไม่แตกต่างจากท้องตลาดมากเกินไป
โดยปัจจุบันสามารถซื้อแป้งมันในท้องตลาดได้ในราคา 8.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาส่งถึงโรงงาน และยังสามารถทยอยจัดซื้อได้อีกด้วย ซึ่งสามารถลดภาระ การสต็อกวัตถุดิบของผู้ประกอบการได้ทางหนึ่ง ขณะที่ซื้อจากกระทรวงพาณิชย์ต้องซื้อครั้งเดียว และต้องจัดหาสถานที่จัดเก็บเอง อย่างไรก็ตามแม้โรงงานเอทานอลทั้ง 3 แห่ง จะจัดซื้อมันสำปะหลังจากสต็อครัฐบาลไม่ได้ เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการผลิต เพราะผู้ประกอบการสามารถหาซื้อมันสำปะหลังในตลาดได้อยู่แล้ว