ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเงินเฟ้อหลุดกรอบใหม่จนสิ้นปี ก่อนกลับมาได้ใน Q1/53

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 2, 2009 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานใหม่ที่ 0.5-3.0% โดยค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อพื้นฐานรายไตรมาสได้ออกนอกกรอบเงินเฟ้อใหม่ไปแล้วในไตรมาส 2/52 และคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานอาจยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่ 0.5% ต่อเนื่องไปในไตรมาส 3/52 และไตรมาส 4/52 แม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานรายเดือนมีโอกาสเริ่มขยับสูงขึ้นเกิน 0.5% ได้ในเดือนสุดท้ายของปี 52 ก็ตาม

ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะเริ่มกลับมายืนเหนือ 0.5% ได้ในไตรมาสที่ 1/53 หรือตั้งแต่เดือน ม.ค.และ มี.ค.53 เป็นต้นไป ซึ่งหมายความว่าสถานการณ์ที่เงินเฟ้อพื้นฐานออกนอกกรอบเป้าหมายนั้นน่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุว่า กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใหม่เป็นกรอบที่แคบลงกว่าเดิม 1% นั้นทางการหวังผลการดูแลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวไม่ผันผวนจนเกินไป และมีความใกล้เคียงกับขนาดช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ มากขึ้นนั้น ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ชะลอตัวดังเช่นในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจต้องเผชิญโจทย์เฉพาะหน้าจากปัญหาเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจยังคงออกนอกกรอบเงินเฟ้อใหม่ไปจนถึงไตรมาส 4/52

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ โมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่าจะมีความต่อเนื่องและชัดเจนขึ้นจริงหรือไม่ โดยในกรณีที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยหยุดชะงักลงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ปัญหาการเมือง หรือปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาด ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่นอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่ยาวนานกว่าที่คาดตามไปด้วย

"ถ้าหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ตลาดก็อาจมีคำถามกลับมายัง ธปท.ถึงคำอธิบายและแนวทางการรับมือที่เหมาะสม อันอาจมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปได้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่จะช่วยสะท้อนถึงข้อผูกมัดและความตั้งใจ(Commitment) ของทางการในการดูแลเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคา(Price Stability)ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยทำให้สามารถรับมือและดูแลคาดการณ์เงินเฟ้อจากฝั่งของนักลงทุนและภาคเอกชนได้ดียิ่งขึ้น อันจะมีผลส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ยังคงความยืดหยุ่นของการตัดสินใจเชิงนโยบายเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากช่วงการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อที่ยังมีระยะห่างพอสมควร



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ