(เพิ่มเติม) ธ.กรุงเทพ คาด ศก.ไทยปี 52 หดตัว 2.8-3.6%,ปี 53 โตได้ 2-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 3, 2009 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกรุงเทพ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 52 หดตัว 2.8-3.6% โดยเชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไตรมาส 4/52 จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ และจากนั้นในปี 53 จีดีพีจะเติบโตได้ 2-4% โดยขณะนี้การลงทุนภาครัฐเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกน่าจะขยายตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลก แม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่ยังมีแนวโน้มไม่ชัดเจน

นายปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 52 ยังมีแนวโน้มหดตัวที่ 11.3-13.7% โดยเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 1-2/52 เป็นช่วงการปรับฐานด้านการลงทุนภาคเอกชน และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยได้ในช่วงไตรมาส 3-4/52 และในปี 53 คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวได้ 3.0-8.5%

ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เงินงบประมาณประจำปีปกติ และการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ส่วนการบริโภคภาคเอกชนปี 52 คาดว่าจะติดลบ 1.0-1.8% และปี 53 จะขยายตัว 0.7-2.6%

ด้านการส่งออกทั้งปี 52 คาดว่าจะหดตัว 16.1-20.2% โดยการส่งออกหดตัวต่ำสุดเมื่อไตรมาส 2/52 ส่วนปี 53 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5.2-10.2% ด้านการนำเข้าปีนี้คาดว่าจะหดตัว 25.1-29.9% ซึ่งเป็นอัตราหดตัวที่ค่อนข้างรุนแรง แต่การนำเข้าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วในปี 53 คาดว่าจะขยายตัว 16.3-22.9% เนื่องจากการส่งออก การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้น

ดังนั้น ทำให้ดุลการค้าปี 52 คาดว่าจะเกินดุล 16,000-17,200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 6.3-6.5% ของจีดีพี และจะลดลงเหลือ 2,100-3,300 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.9-1.1% ของจีดีพีในปี 53 และดุลบัญชีเดินสะพัด ปี 52 คาดว่าเกินดุล 6.3-6.4% และปี 53 จะเกินดุลเล็กน้อยที่ 1.2-1.4%

ส่วนอัตรเงินเฟ้อคาดว่า ปี 52 จะ ติดลบ 0.5-1.5% และปี 53 เป็นบวก 4.0-5.5% และเงินเฟ้อพื้นฐานปี 52 อยู่ที่ 0-1% และปี 53 อยู่ที่ 1.0-2.5% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเงินเฟ้อปี 53 สูงขึ้น เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลคงไม่มีการต่ออายุมาตรการเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนอีก เพราะการต่ออายุมาตรการดังกล่าวเป็นเวลานาน คงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

นายปิยะพันธ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการเมืองที่มีความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น ขณะนี้ปัญหาการเมืองและความขัดแย้งทางสังคมอยู่ในวงจำกัด เมื่อเทียบกับสถานการณ์เมื่อ 2-3 ปีที่ผานมา ดังนั้น จากสถานการณ์ที่คนไทยเห็นความเสี่ยงสูงมามากแล้ว และภายใต้พื้นฐานที่รัฐบาลสามารถปฎิบัติหน้าที่ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ได้ เชื่อว่าจะทำให้เรื่องต่างๆ โดยหน้าได้โดยไม่มีผลกระทบต่อภาพรวม

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าภาคราชการและข้าราชการจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปอย่างไรก็ไม่น่าจะมีผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

"ดูแล้วเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง และการที่การเมืองมีเสถียรภาพ จะทำให้รัฐบาลไม่ต้องเสียเวลากับการแก้ปัญหาภายใน ให้มีเวลาทำงานเต็มที่ แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ หากมีการผลักดันนโยบายต่างๆ ไปแล้วมีความคืบหน้าไปตามกระบวนการ กลไกทางการเมืองก็เป็นเรื่องการเมืองเท่านั้น" นายปิยะพันธ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ