(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยจะทยอยอนุมัติโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งอีก 1 แสนลบ.ใน 2-3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 4, 2009 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คาดว่า ภายใน 2-3 เดือนนี้ รัฐบาลจะทยอยอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท จากล่าสุดที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 18 ส.ค.52 ได้อนุมัติไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากที่กระทรวงการคลังนำเงินไปชดเชยเงินคงคลังน้อยลงหลังจากสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยังเชื่อว่า เม็ดเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจำนวน 1.43 ล้านล้านบาท ที่จะก่อให้เกิดการลงทุนต่างๆ ในอนาคตนั้น จะนำไปสู่การฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง ตลอดจนนำไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนและประชาชนเพิ่มขึ้น และทำให้มั่นใจได้ว่านับตั้งแต่ปลายปี 52 เป็นต้นไป เศรษฐกิจของไทยจะกลับมาขยายตัวได้ในอัตราปกติ ซึ่งแผนการลงทุนในระยะเวลา 3 ปีนี้จะทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศสูงถึง 1.5 ล้านคน

"การลงทุนในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง แต่จะนำไปสู่การลงทุนของทั้งภาคเอกชนและประชาชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 52 เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ในอัตราที่ปกติ" นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิด"แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" ที่อิมแพค เมืองทองธานี

ทั้งนี้ยอมรับว่าการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าวแม้จะทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงขึ้นในช่วงแรก แต่ยอดหนี้ที่สูงขึ้นยังอยู่ในสัด่วนที่สามารถบริหารจัดการได้ และอยู่ในมาตรฐานที่ไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเม็ดเงินจากโครงการลงทุนเริ่มส่งผลต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะทยอยลดลงจากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 58-59% ต่อจีดีพีในปี 2555 มาเหลือสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 50% ต่อจีดีพีในปี 2559

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการลงทุนที่สำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในระยะเวลา 3 ปี ประกอบด้วย การลงทุนที่สำคัญในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ, การคมนาคมขนส่ง, การศึกษา, สาธารณสุข และการท่องเที่ยว

โดยด้านการเกษตร จะเป็นการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิการของพืชผลทางการเกษตร สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน และลดจำนวนผู้ประสบอุทกภัยลงจาก 4 แสนคน ให้เหลือเพียง 4 หมื่นคน

ด้านคมนาคมขนส่ง จะช่วยอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการจากปัจจุบันที่ต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ 19% ของรายได้ประชาชาติ ให้เหลือ 16% ของรายได้ประชาชน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการของไทยเพิ่มขึ้น

ด้านการศึกษา เชื่อว่าเมื่อสิ้นสุดแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในปี 2555 แล้วจะไม่เหลือนักเรียนในระดับที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 1.6 แสนคน รวมทั้งจะต้องไม่เหลือโรงเรียนที่ระดับการเรียนการสอนต่ำกว่ามาตรฐาน จากปัจจุบันที่มีโรงเรียนในลักษณะนี้อยู่ราว 3 พันแห่ง รวมทั้งจะเพิ่มจำนวนของนักเรียนในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้นเป็น 20 คน/คอมพิวเตอร์ 1เครื่อง จากปัจจุบันที่ 38 คน/คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง

ด้านสาธารณสุข จะปรับปรุงระบบบริการสาธารสุขให้เป็นแบบเชิงรุก ให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถรับบริการทางการแพทย์ได้ใกล้บ้านมากขึ้น โดยจะเพิ่มการรองรับผู้ป่วยนอกของสถานพยาบาลในระดับตำบลเป็น 60% จากปัจจุบันที่รองรับได้ 40% และเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยเป็น 70,000 เตียง จากปัจจุบันที่ 60,000 เตียง

ด้านท่องเที่ยว เป็นการวางมาตรการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลังจากเกิดปัญหาความไม่สงบทำให้เศรษฐกิจซบเซาลงมาก จึงตั้งเป้าว่าจะยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็น 120,000 บาท/ปี จากปัจจุบันที่ 64,000 บาท/ปี

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ได้ส่งผลชัดเจนว่าทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น โดยไตรมาส 2/52 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.3% เมื่อเทียบไตรมาส 1/52 ขณะที่รัฐบาลได้เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ผ่านโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2555 โดยมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณากรอบวงเงินลงทุน จาก 1.56 ล้านล้านบาท เหลือ 1.43 ล้านล้านบาท โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากผลประโยชน์ที่ประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความพร้อมของโครงการลงทุน พบว่า ขณะนี้มีโครงการที่พร้อมลงทุนจำนวน 1.06 ล้านล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจ 2 แสนล้านบาท และรัฐบาลลงทุน 8 แสนล้านบาท โดยวงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาทแรก อยู่ในความรับผิดชอบหลัก ของ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข เป็นเม็ดเงิน 150,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 70%

"คลังสามารถจัดสรรเม็ดเงิน ส่วนแรก 2 แสนล้านบาทตาม พ.ร.ก.กู้เงินได้ฯ และครั้งต่อไปจะจัดสรรเงินอีก 1 แสนล้านบาท จากนั้นเมื่อ พ.ร.บ.กู้เงินฯ มีผลบังคับใช้ก็จะจัดสรรแหล่งเงินจากภายในประเทศอีก 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้คลังยังสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.หนี้สาธาณะฯ จัดสรรแหล่งเงินเพิ่มเติมเพื่อให้มีเม็ดเงินลงทุนครบ 1.43 ล้านล้านบาท"นายกรณ์ กล่าว

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า เพื่อให้การเริ่มต้นโครงการมีการกำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จึงได้แบ่งเป็นการดำเนินการใน 3 ส่วน ส่วนแรก ให้หน่วยราชการเจ้าของโครงการรายงานความคืบหน้าโครงการการเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบ GF-MIS ของกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณจะดำเนินการอนุมัติเงินงวดงานและเม็ดเงิน และรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการติดตามประเมินผลการใช้เงิน เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรค ก่อนนำมารายงานให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบ

และความตั้งใจของรัฐบาล ที่ต้องการให้การลงทุนที่เน้นความโปร่งใส และเกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชน จึงมีการรายงานผลผ่านเว็บไซต์ www.tkk2555.com ที่วันนี้ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อรายงานให้ถึงประชาชนโดยตรง ถือเป็นครั้งแรกที่การใช้เงินแผ่นดินของรัฐบาลจะรายงานอย่างโปร่งใส มีการแจกแจงรายละเอียดต่างๆในทุกขั้นตอน ทั้งความคืบหน้าโครงการและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ