โจเซฟ สติกลิทซ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง หลังจากฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930
"ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างยั่นยืน ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะต้องผ่านเหตุการณ์ใหญ่ๆ 2 เหตุการณ์ในเร็วๆนี้ อย่างแรกคือภาวะเศรษฐกิที่อ่อนแออันเนื่องจากอัตราการอุปโภคบริโภคและอัตราการลงทุนในภาคเอกชนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งคือเศรษฐกิจที่เริ่มดีดตัวขึ้นอันเนื่องจากมาตรการฟื้นฟูของรัฐบาล เศรษฐกิจที่เคลื่อนไหวในลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่าการฟื้นตัวเป็นรูปตัว W" สติกลิทซ์กล่าว
สติกลิทซ์ยังกล่าวด้วยว่า "เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาสถานการณ์เศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเศรษฐกิจโลกเผชิญกับวิกฤตการณ์รุนแรงเมื่อปีที่แล้วซึ่งเป็นผลมาจากการขาดมาตรการกำกับดูแลที่รัดกุม จึงทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งโตแบบคุมไม่ได้ และเมื่อสถาบันการเงินเหล่านี้ล้ม ก็ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน บางคนเคยบอกว่าสถาบันการเงินบางแห่งใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้ แต่ผมบอกว่าสถาบันการเงินเหล่านั้นก็ใหญ่เกินกว่าจะรับมือได้เมื่อมีปัญหาเช่นกัน"
"ในขณะที่รัฐบาลโอบามาใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2 แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการที่รัฐบาลสหรัฐจะอัดฉีดงบประมาณฟื้นฟูรอบที่สองหรือไม่สั้น ผมว่ารอดูดีกว่า" สติกลิทซ์กล่าว
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ หดตัว 1% ในไตรมาส 2 น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะหดตัว 1.5% เพราะได้แรงหนุนจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ และจากโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากอัตราว่างงานในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง บลูมเบิร์กรายงาน