นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสถานีบริการ NGVขนาดใหญ่ ของ บมจ.ปตท. (PTT) บริเวณถนนกาญจนาภิเษก เขตบางบอน กรุงเทพฯ ว่า สถานีบริการดังกล่าว เป็นสถานีประเภทแนวท่อก๊าซธรรมชาติ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากสถานีขนส่งสายใต้ สามารถให้บริการรถยนต์ทุกประเภท และยังจะเพิ่มสถานีบริการขนาดใหญ่ หรือ ซุปเปอร์สเตชั่น ทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 7 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการใช้ NGV ที่จะเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบัน เปิดแล้ว 2 แห่ง
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซ NGV เพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ครม.มีมติ ให้ตรึงราคา NGV อีก 1 ปี แต่เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนขยายสถานีบริการ และรัฐบาลจะมีการชดเชยราคา NGV ให้กับ PTT ซึ่งขณะนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการพิจาณาการชดเชยราคา NGV มีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และคาดว่าจะนำข้อสรุปกลับมาเสนอในที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ต่อไป
ด้านนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ใช้ NGV 152,000 คัน และมีปริมาณการใช้ NGV สูงถึง 3,860 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 51 เกือบ 4 เท่า กระทรวงพลังงาน จึงเร่งรัดให้บริษัทขยายสถานีบริการให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ บริษัทมีสถานีบริการ NGV 343 แห่งในกรุงเทพฯและปริมณฑล และ ได้เพิ่มจำนวนรถขนส่ง NGV มากขึ้นเป็น 1,120 คัน
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเตรียมให้เงินชดเชยราคา NGV ให้บริษัท เห็นว่า จะจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนขยายสถานีบริการ NGV เพิ่มขึ้น เพราะหากรัฐบาลชดเชยราคาให้ในอัตรา 2 บาท/กิโลกรัม ถือว่ายังไม่คุ้มทุน เพราะขณะนี้ต้นทุน NGV อยู่ในระดับสูงถึง 14 บาท/กิโลกรัม จากปัจจุบัน ที่รัฐตรึงราคาไว้ที่ 8.50 บาท/กิโกลรัม ดังนั้น ในอนาคตรัฐบาลจะต้องพิจารณาปรับราคา NGV ให้สูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง
นายจิตรพงษ์ กล่าวด้วยว่า จากการใช้ NGV ที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินและดีเซล ประมาณ 7-8% และตั้งเป้าว่า ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า จะลดการนำเข้าให้ได้ 13-15%