ที่ประชุม G-20 ออกแถลงการณ์สนับสนุนมาตรการกระตุ้นศก.ต่อ-ควบคุมการจ่ายโบนัสของธนาคาร

ข่าวต่างประเทศ Sunday September 6, 2009 09:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ G-20 ได้เสร็จสิ้นการประชุมระยะเวลา 2 วันลงแล้วเมื่อวานนี้ โดยที่ประชุมประสานเสียงว่าจะยังคงสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปเพื่อที่เศรษฐกิจโลกจะได้ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ที่ประชุมซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนยังตกลงที่จะควบคุมการจ่ายเงินโบนัสของธนาคารต่างๆให้เง้มงวดขึ้น และเปิดโอกาสให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้มีสิทธิมีเสียงในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศเหล่านี้บนเวทีโลก

โดยที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G-20 ได้กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะสามารถกล่าวได้ว่าภาวะถดถอยได้สิ้นสุดลงแล้ว

ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระบุว่า ที่ประชุมยังคงเห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลประเทศต่างๆจะต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพื่อที่จะไม่ทำให้การฟื้นตัวหยุดชะงัก

"เราจะยังคงใช้มาตรการสนับสนุนทางการเงินที่จำเป็น รวมถึงนโยบายการเงินและการคลังที่ขยายวงกว้าง สอดคล้องกับความเสียรภาพด้านราคา และความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว จนกว่ามั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแท้จริงแล้ว" แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นพ้องต่อข้อเสนอของฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ เรื่องการควบคุมการจ่ายโบนัสที่สูงเกินไปให้กับบรรดานายธนาคาร เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วิกฤตการเงินปะทุขึ้น หลังจากการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ อดีตวาณิชธนกิจอายุเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันที่ประชุมก็เห็นชอบกับข้อเสนอของนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ ที่ต้องการให้กฎระเบียบของธนาคารข้ามชาติมีความเคร่งครัดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนทุนสำรองขั้นต่ำของธนาคารควรจะมากกว่าระดับ 8% ในข้อกำหนดปัจจุบัน

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้น ที่ประชุมก็มีความเห็นว่า ประเทศเหล่านี้ควรมีสิทธิมีเสียงในการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ ธนาคารโลกมากกว่านี้

"ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศที่ยากจนที่สุด ควรได้รับสิทธิให้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลก" แถลงการณ์ระบุ โดยที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ที่เมืองพิตต์สเบอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายเดือนนี้จะมีการอภิปรายกันในประเด็นนี้เพื่อความคืบหน้าต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่ม G-20 ประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (จี7) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และแคนาดา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ บราซิล จีน อินเดีย และรัสเซีย เป็นต้น สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ