(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับความน่าเชื่อถือ IDR ของ KTB ที่ BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 9, 2009 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงไทย (KTB) ดังต่อไปนี้ คือ

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) ที่ BBB / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น ที่ F3
  • อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ที่ C/D
  • อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ที่ 2
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ระดับ BBB-
  • อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ BBB
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1 hybrid) ที่ระดับ BB
  • อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ระดับ AA+(tha) / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ F1+(tha)
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงไว้ที่ AA(tha)
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities คงไว้ที่ A(tha)

ฟิทช์มองว่าอันดับเครดิตของ KTB มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร ถึงแม้ว่าธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านของผลการดำเนินงานที่อาจปรับตัวลดลงในอนาคต KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 17% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยถือหุ้นในสัดส่วน 55% เมื่อพิจารณาถึงขนาดและความสำคัญของ KTB ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น ในขณะที่การที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้ เนื่องจากธนาคารต้องสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ

ในปี 2551 KTB มีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอาจปรับตัวลดลงในปี 2552 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรง ทั้งนี้ฟิทช์ได้ประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยปี 2552 ที่ติดลบ 3.1% และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นบวก 3% ในปี 2553 KTB มีกำไรสุทธิ 12.3 พันล้านบาทในปี 2551 เพิ่มขึ้น 92.2% จากปี 2550 แม้ว่าธนาคารได้มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO จำนวน 2.4 พันล้านบาท การขยายตัวของสินเชื่อ (เพิ่มขึ้น 9.2% จากปี 2550) และต้นทุนเงินฝากที่ลดลงช่วยให้ KTB สามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ระดับ 3.9% ในปี 2551 สำหรับช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 KTB มีกำไรสุทธิ 5.2 พันล้านบาท ลดลง 14% จากครึ่งปีแรกปี 2551 เนื่องจากรายได้เงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ที่ลดลงอย่างมากและค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารกลับมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 3.4% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงประกอบกับรายการระหว่างธนาคารที่มีอัตราผลตอบแทนในระดับต่ำมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น KTB มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ 0.8% และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้นที่ 10.1% ในครึ่งปีแรกปี 2552

สำหรับครึ่งปีแรกปี 2552 KTB มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงที่ 4.3% จากสิ้นปี 2551 หรือ 8.6% เมื่อคิดเทียบเป็นอัตราต่อปี ในขณะที่สินเชื่อของธนาคารไทยขนาดใหญ่รายอื่นมีการปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ของ KTB เป็นสินเชื่อที่ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ลดลงมาอยู่ที่ 86 พันล้านบาท (8.1% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2551 เนื่องจากการตัดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกจากบัญชีจำนวน 13.6 พันล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 88.7 พันล้านบาท หรือ 8.1% ของสินเชื่อรวม อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ยังคงอยู่ในระดับต่ำ (41.2%) สะท้อนถึงความเสี่ยงของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 6 — 12 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ