เอกชน วอนธปท.คลายกฎให้แบงก์พาณิชย์กระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2009 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ถึง 75% ในขณะนี้ คือ การขาดสภาพคล่อง หากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ ต่างๆ สามารถผ่อนคลายกฎระเบียบในการขอสินเชื่อลงได้ ก็จะเป็นการพยุงสถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ให้อยู่รอดต่อไปได้

ทั้งนี้ มองว่าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาในขณะนี้ หากธนาคารพาณิชย์ ยังถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์และกติกาที่เข้มงวดเหมือนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ ก็จะยิ่งเป็นการยากต่อผู้ประกอบการ SME ในการเข้าถึงแหล่งทุนและการขอรับสินเชื่อมาดำเนินธุรกิจได้ ดังนั้น จึงเสนอให้ ธปท.ปรับกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ พร้อมที่จะผ่อนปรนการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ได้ เช่น เกณฑ์การกำหนด NPL และ เกณฑ์บาเซิล II เป็นต้น โดยขอเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น

"หากธนาคารพาณิชย์ยังถูกคุมกติกาที่เข้มงวด โดยนำกติกาตอนที่เศรษฐกิจดี มาใช้กับช่วงที่มีปัญหา ก็จะทำให้ SME ขอสินเชื่อได้ยาก ดังนั้นจึงขอให้ธปท.ปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์พร้อมปลอ่ยสินเชื่อให้ SME โดยไม่ติดขัดระเบียบของธนาคารกลาง ซึ่งเป็นการผ่อนปรนเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะเดินไปข้างหน้าได้" นายดุสิต กล่าว

สำหรับปัญหาของ SME ในขณะนี้ ได้แก่ ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้เนื่องจากเกรงปัญหา NPL เกินค่าที่กำหนดและยอมรับได้ของแต่ละธนาคาร รวมทั้งเกินกรอบของ ธปท., ปัญหาจากการถูกปฎิเสธสินเชื่อ เนื่องจากธนาคารจะดู cash flow ของ SME ย้อนหลังเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น และ ปัญหาวงเงินกู้เต็มหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นายดุสิต กล่าวต่อว่า ธุรกิจ SME ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.5 ล้านราย คิดเป็นสัดส่น 40% ของจีดีพี และทำรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 28% ของการส่งออกโดยรวมในแต่ละปี มีการจ้างแรงงานประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งมีการประเมินว่าหาก SME เหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องก็อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้แค่ปลายปี หรือต้นปีหน้าเท่านั้น จากนั้นอาจต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปอีก และทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวในระยะเวลาดังกล่าวได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ