(เพิ่มเติม) "กรณ์"เล็งขยับเพิ่มเป้าหมายสินเชื่อแบงก์รัฐอีกรอบ หลังเห็นสัญญาณบวก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2009 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เตรียมปรับเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีกรอบ หลังจากที่เมื่อเร็วๆ นี้ได้ปรับเพิ่มเป้าสินเชื่อจาก 625,500 ล้านบาท เป็น 900,000 ล้านบาทมาแล้ว เนื่องจากขณะนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่งสามารถผล่อยสินเชื่อได้เกินเป้าหมายแล้ว

นอกจากนี้ เชื่อว่าในช่วงที่เหลือสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนน่าจะมีการปล่อยสินเชื่อเข้าระบบได้มากขึ้น เพราะความเสี่ยงน้อยลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อมีมากขึ้น

อีกทั้ง ยังได้ฝากทาง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไปปรับปรุงในหลายประเด็นเพื่อช่วยในการสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้

รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้กำลังประเมินผลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐ หลังจากได้มีการเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อและมีโครงการ Fast Track เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อมีความคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้น เพียง 1 สัปดาห์ พบว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจหลายแห่ง สามารถปล่อยสินเชื่อได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว โดยเฉพาะ ธนาคารออมสิน ที่ปล่อยสินเชื่อในโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อห้องแถว ที่เป็นสินเชื่อระดับรากหญ้า ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 85%

"ตอนนี้มีสัญญาณความต้องการสินเชื่อทั้ง ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ แต่กระทรวงการคลังไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงการทำงานของภาคเอกชน แต่อยากเห็นสภาพคล่องและการเข้าถึงสภาพคล่องของภาคธุรกิจ แต่ธนาคารพาณิชย์มีเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ จึงเป็นโอกาสให้สถาบันการเงินของรัฐ แสดงบทบาทเพื่อช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการ" รมว.คลัง กล่าว

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าจากภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ระดับความต้องการสินเชื่อมีมากขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก เห็นสัญญาได้ชัดเจนจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เริ่มมีเข้ามา มีความต้องการผลิตสินค้า ขยายการลงทุน ความต้องการสินเชื่อจึงเริ่มกลับมา ทำให้การประเมินความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อน่าจะดีขึ้น

ด้านนายสมพร จิตเป็นธรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย" ว่า ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้ฐานการเงินของผู้ประกอบการอ่อนแอลง ภาวะการส่งออกหดตัวลง โดยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกหดตัว 23.9% และทั้งปี คาดว่าการส่งออกจะหดตัว 15-17% ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง

ทั้งนี้ การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร พิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ที่ไม่ได้มองถึงฐานะทางธุรกิจช่วงวิกฤติ แต่จะดูจากผลประกอบการย้อนหลัง และการปรับตัวของผู้ประกอบการในช่วงวิกฤติด้วย เพื่อให้น้ำหนักในการพิจารณาสินเชื่อ พิจารณาหลักประกัน และการคาดการณ์ปัจจัยต่างๆในอนาคต

ขณะเดียวกันในส่วนของธนาคาร ยังมีข้อจำกัด และถูกกฎเกณฑ์ต่างๆ ควบคุมอยู่ ทั้งเกณฑ์การเกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ดูแลอยู่ แต่ยังถูกตรวจสอบจาก ธปท. นอกจากนี้ การทำระบบบัญชีที่ไม่เป็นมาตรฐานสากล จะมีปัญหาต่อการระดมทุนของธนาคาร และส่งผลถึงต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารต่อไปด้วย

นอกจากนี้ธนาคารยังมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากไม่สามารถระดมเงินจากการรับเงินฝากจากประชาชนได้ และธนาคารยังมีฐานะเงินกองทุนในระดับต่ำ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การเป็นรัฐวิสาหกิจ

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ ลีลาวรรณกุล Senior Vice President พัฒนาธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เทคนิคการกู้เงินอย่างไรให้ได้เงินของผู่ประกอบการ ต้องพิจารณาจาก 3 หลัก คือ รู้เรา เป็นการเตรียมการของผู้ประกอบการ รู้เขา คือการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร สรุปหลักพิจารณาความเสี่ยงการให้สินเชื่อ และให้เขารู้เรา เป็นการเตรียมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้

โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการเตรียมการตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนธุรกิจหรือโครงการ เป็นช่วงก่อนการลงทุน ช่วงการบริหารโครงการ และช่วงการดำเนินงาน หรือช่วงบริหารการผลิต ซึ่งความสำเร็จของการประกอบธุรกิจ ต้องมีการลงทุนที่พอเหมาะ ขายสินค้าได้อย่างรวดเร็วและจำนวนมาก สร้างผลกำไรได้ ต้องมีสภาพคล่อง และมีความสามารถในการชำระหนี้ตามข้อตกลงได้

ส่วนการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร จะพิจารณาจากคุณสมบัติผู้กู้ ความสามารถในการหารายได้ ฐานะการเงิน สภาพแวดล้อมต่างๆ เช่นประเทศคู่ค้า และหลักประกันการขอสินเชื่อ

ขระที่การเตรียมสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการเงิน จะต้องทำให้ธนาคารรู้ความสามารถของกิจการ มีจังหวะเวลาในการติดต่อขอสินเชื่อ รักษาความเป็นลูกหนี้ที่มีเครดิตที่ดีเสมอ เป็นนักธุรกิจที่รักษาประวัติการค้า ให้ข้อมูลกับธนาคารอย่างจริงใจและเพียงพอ และเสนอหลักประกัน หรือให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ค้ำประกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ