(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค.52 อยู่ที่ 67.4

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2009 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ส.ค.52 อยู่ที่ 67.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.52 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 66.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 66.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.8

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนส.ค.52 ทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3

ปัจจัยบวกมาจากการอนุมัติแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 400 โครงการ คาดว่าจะส่งผลทางจิตวิทยาเชิงบวกกับผู้บริโภค, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ประกาศจีดีพีไตรมาส 2/52 ขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/52, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.25% ต่อปี, ราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลปรับตัวลดลง, การต่ออายุโครงการ 5 มาตรการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพไปจนถึงสิ้นปี 52 และเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ขณะปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันขายปลีกเบนซินในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง, ความกังวลเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง, ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009 ต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และการส่งออกในเดือน ก.ค.ที่หดตัวลดลง 25.7%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้นต่อเนื่องกัน 3 เดือน ยังไม่สามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตจะดีขึ้นได้ เพียงแต่ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเป็นหลักประกันได้ส่วนหนึ่งว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะไม่ทรุดตัวลงไปอีก ขณะที่มองว่าปัจจัยการเมืองเริ่มคลี่คลายลง

"ปัญหาการเมืองไม่มีผลบั่นทอนสำคัญในความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้น ประกอบกับประชาชนเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ช่วงนี้ปัจจัยลบมีน้อยกว่าปัจจัยบวก โดยปัจจัยที่ผู้บริโภคมองว่าบวกมากที่สุดคือเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น"นายธนวรรธน์ ระบุ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่าการบริโภคของประชาชนในปัจจุบันจะยังขยายตัวไม่มากนักไปจนถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในทุกรายการยังคงต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 ดังนั้น รัฐบาลควรเริ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ตลอดจนบริหารการเมืองให้มีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในรอบที่ 2 อีกทั้งควรบริหารจัดการไม่ให้ราคาพลังงานสูงเกินไป เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้

นายธนวรรธน์ คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในไตรมาส 4/52 เติบโตอยู่ที่ 2-3% เนื่องจากสัญญาณทางเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มดีขึ้น เช่น ภาคการส่งออกที่คำสั่งซื้อมีมากขึ้น, ยอดนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 5% ในช่วงไตรมาส 4, การบริโภคของประชาชนเริ่มดีขึ้นตามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประกอบกับรัฐบาลเริ่มเดินหน้าลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน

ส่วนที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น นายธนวรรธน์ มองว่า ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ไม่น่าจะเกินระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล และยังอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้บริโภคยอมรับได้เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่หากราคาน้ำมันขึ้นไปสูงกว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของไทยได้

ขณะที่ในปี 53 มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตรา 5% หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนโครงการลงทุนต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น ตลอดจนสามารถบริหารจัดการปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการได้ดี แต่หากการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และการบริหารจัดการด้านสภาพคล่องทำได้ในระดับที่ลดน้อยลงก็อาจจะทำให้ปีหน้าเศรษฐกิจอาจเติบโตในระดับ 3-4% ลดหลั่นลงมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ