In Focusกระแสควบรวมกิจการในยุโรปแรง คราฟท์ฟู้ดส์จีบแคดบิวรี ดอยช์เทเลคอมจับมือฟรานซ์เทเลคอม

ข่าวต่างประเทศ Friday September 11, 2009 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระแสความแรงของการซื้อและควบรวมกิจการในยุโรปคงจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ ธุรกิจอาหาร ขนม เครื่องดื่ม โทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ต่างดาหน้าหาพันธมิตรเพื่อควบกิจการ หรือไม่ก็ซื้อกิจการกันอย่างคึกคัก นำร่องโดยคราฟท์ ฟู้ดส์ อิงค์ บริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกที่ยื่นข้อเสนอซื้อแคดบิวรี พีแอลซี ผู้ผลิตขนมสัญชาติอังกฤษเป็นมูลค่า 1.02 หมื่นล้านปอนด์ (1.67 หมื่นล้านดอลลาร์) เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา

ตามมาติดๆด้วย ดอยช์ เทเลคอม เจ้าของกิจการ ที-โมบายล์ และฟรานซ์ เทเลคอม เจ้าของกิจการออเรนจ์ที่ใกล้จะบรรลุข้อตกลงในการควบรวมกิจการโทรศัพท์มือถือในอังกฤษของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อจัดตั้งบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือรายใหญ่สุดในอังกฤษ และคาดว่า จะมีการประกาศการควบรวมกิจการในเร็วๆนี้

ล่าสุด ก็เป็นวงการเครื่องดื่มที่คึกคักไม่แพ้กัน หลังจากที่ซันโตรี่ โฮลดิ้งส์ บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบดอดเจรจาเพื่อซื้อกิจการบริษัทออเรนจินา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มสัญชาติยุโรป จากแบล็คสโตน กรุ๊ป และไลออน แคปิตอล โฮลดิ้งส์ จะว่าไปแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ล้วนมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปในการควบรวมและซื้อกิจการ เราลองมาดูกันว่า ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก บริษัทชั้นนำเหล่านี้มีเหตุผลอะไรจึงตัดสินใจซื้อกิจการและควบกิจการกันอย่างไม่หยุดหย่อน

คราฟท์ฟู้ดส์ไม่ถอย เดินหน้าหาทางซื้อกิจการหลังแคดบิวรียังไม่ปิดประตูตาย

เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงฟื้นไข้แบบนี้ การอยู่แบบหัวเดียวกระเทียมลีบคงจะไม่ดีนัก สู้หาพันธมิตรมาร่วมทุนหรือจับมือช่วยกันทำธุรกิจน่าจะดีกว่ากันเยอะ คราฟท์ฟู้ดส์ ซึ่งมีแบรนด์สินค้าในเครือ ได้แก่ คุกกิ้โอรีโอ ช็อคโกแลตโทเบิลโรน ครีมชีสฟิลาเดลเฟียนั้น จึงได้ยื่นข้อเสนอซื้อแคดบิวรี และก็ได้รับการปฏิเสธอย่างทันควัน แต่คราฟท์ก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าแผนการควบรวมกิจการและผลักดันให้กระบวนการจีบแคดบิวรีมีความคืบหน้าต่อไป

คราฟท์ฟู้ดส์มองว่า ประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการซื้อกิจการนั้น มีทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการจัดจำหน่าย การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ถึงปีละ 625 ล้านดอลลาร์ และบริษัทที่ควบรวมกันจะสามารถทำรายได้ถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันแบรนด์ของแคดบิวรีจะได้ประโยชน์จากเครือข่ายระดับโลกและเทคโนโลยีต่างๆของคราฟท์

นอกจากนี้ คราฟท์ฟู้ดส์ยังได้ยืนยันถึงเรื่องความต้องการที่จะสานต่อแบรนด์ของแคดบิวรี อาทิ ช็อคโกแลตแดรีมิลค์ ลูกอมฮอลส์ หมากฝรั่งไทรเดนท์และเดนทีน พร้อมระบุว่าหากข้อเสนอได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดของแคดบิวรี ก็จะเกิดบริษัทที่ทรงอิทธิพลของโลกในธุรกิจขนมขบเคี้ยว ลูกอมลูกกวาด และอาหารจานด่วน ทั้งนี้ทั้งนั้น การซื้อกิจการยังจะมีส่วนช่วยรักษาตำแหน่งงานในอังกฤษ ซึ่งรวมถึงงานที่โรงงานแห่งหนึ่งซึ่งแคดบิวรีได้ขึ้นป้ายขายอีกด้วย

คราฟ์ฟู้ดส์ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทได้เสนอซื้อกิจการในรูปเงินสด 300 เพนซ์ และหุ้นคราฟท์ฟู้ดส์ 0.2589 หุ้น ต่อหุ้นแคดบิวรี 1 หุ้น ซึ่งเท่ากับว่าคราฟท์ได้ตีราคาหุ้นแคดบิวรีที่ 745 เพนซ์ต่อหุ้น ซึ่งมากกว่าราคาปิดเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ระดับ 568 เพนซ์อยู่ถึง 31%

ด้านนักวิเคราะห์จากเอเวอร์ลูชั่น ซีเคียวริตี้ในลอนดอนกล่าวว่า ตัวเลขการตีราคาหุ้นแคดบิวรีของคราฟท์ที่ 745 เพนซ์ต่อหุ้นนั้นอาจกระตุ้นให้เนสเล่ เอสเอ และเฮอร์ชีย์ โค เข้ามาเป็นคู่แข่งในการยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของแคดบิวรี่ในราคาที่สูงกว่า และอาจขายกิจการได้ด้วยมูลค่าสูงสุดถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่บอร์ดของแคดบิวรีให้เหตุผลถึงการปฏิเสธข้อเสนอจากคราฟท์ฟู้ดส์ว่าเป็นเพราะข้อเสนอดังกล่าวประเมินมูลค่าธุรกิจของบริษัทต่ำเกินไป นอกจากนี้ บริษัทยังมั่นใจในกลยุทธ์การทำธุรกิจแบบสแตนด์อโลนและอนาคตในการเติบโตของบริษัท เนื่องจากแคดบิวรีมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง สินค้าที่มีความแตกต่างของบริษัท อีกทั้งพื้นที่ทางการตลาดที่เหมาะสม และบอร์ดของแคดบิวรีเองก็ไม่ได้ปิดประตูตายสำหรับการเจรจาต่อรองเรื่องการควบรวมกิจการ

ปีเตอร์ ฮาห์น อดีตผู้อำนวยการของซิตี้กรุ๊ปกล่าวผ่านทางบลูมเบิร์กว่า "จากราคาหุ้นที่สูงขึ้นของบริษัททั้ง 2 ราย ทำให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งภาวะเช่นนี้จะจุดกระแสการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมเดียวกันในอนาคต"

ก่อนหน้านี้ก็เคยมี การควบรวมบริษัทผลิตลูกกวาดครั้งใหญ่สุดเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อบริษัท มาร์ส อิงค์ ผู้ผลิตเอ็มแอนด์เอ็มส์ เข้าเทคโอเวอร์ ริกลีย์ และขึ้นแท่นผู้ผลิตลูกกวาดรายใหญ่สุดของโลกแทนที่แคดบิวรี อย่างไรก็ตาม หากแคดบิวรีตัดสินใจควบรวมกิจการกับคราฟท์ ก็จะมีส่วนแบ่งในตลาดขนมโลกราว 15% ซึ่งเท่ากับของมาร์ส ในขณะที่เนสเล่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 7.6%

ทางด้านสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ข้อเสนอซื้อกิจการในครั้งนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยเมื่อปีที่แล้ว นักวิเคราะห์กล่าวว่า แคดบิวรีอาจตกเป็นเป้าหมายต่อไปของคราฟท์ หลังจากที่คราฟท์ได้จ่าย 7.8 พันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อธุรกิจบิสกิตของ กรุ๊ป ดานอน เอสเอ ในปี 2550 ส่งผลให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตคุกกี้รายใหญ่สุดของยุโรป ขณะที่แคดบิวรีเพิ่งแยกแผนกเครื่องดื่ม ดร. เป๊ปเปอร์ ออกมาตั้งเป็นธุรกิจเดี่ยวเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว โดยหวังที่จะมุ่งความสนใจไปที่แบรนด์ขนมหวานอย่างเต็มที่

ดอยช์เทเลคอม-ฟรานซ์เทเลคอม เดินหน้าควบรวมกิจการมือถือในอังกฤษ

ธุรกิจโทรศัพท์มือถือก็เป็นอีกวงการที่อยู่ในกระแสความแรงของการควบรวมกิจการ ดอยช์ เทเลคอม และฟรานซ์ เทเลคอม ได้เจรจาคืบหน้าไปไกลกว่าคู่ของคราฟท์ฟู้ดส์และแคดบิวรี เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงในการควบรวมกิจการในอังกฤษได้แล้ว และคาดว่า จะทำข้อตกลงสำเร็จในเดือนพ.ย.นี้

หากการควบรวมกิจการครั้งนี้สำเร็จ อังกฤษก็จะมีบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือรายใหญ่สุดในประเทศ และ อาจจะทำให้ผู้นำในตลาดอย่าง O2 ภายใต้การดูแลของเทเลโฟนิก้าหลุดจากแท่นผู้นำ และคาดว่า บริษัทร่วมทุนรายใหม่ จะสามารถกวาดผู้ใช้บริการได้ถึง 30 ล้านราย หรือคิดเป็น 38% ของตลาดในอังกฤษบนพื้นฐานของผลประกอบการในไตรมาส 2

การจับคู่กันครั้งนี้ ดอยช์ เทเลคอม ซึ่งเป็นเจ้าของ ที-โมบายล์ ผู้ให้บริการมือถือในอังกฤษ และฟรานซ์ เทเลคอม ซึ่งบริหารออเรนจ์นั้น จะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้จากการรวมเครือข่ายและการลดจำนวนพนักงานลง ก่อนหน้านี้ ดอยช์ เทเลคอมออกมายอมรับว่า บริษัทกำลังพิจารณาเรื่องแนวทางในการทำธุรกิจในอังกฤษใหม่ เนื่องจากบริษัทไม่สามารถหาลูกค้าได้มากนักในตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ท่ามกลางผู้ให้บริการรายใหญ่ 5 ราย และรายเล็กๆอีกหลายรายในตลาด

ทีโอ คิทซ์ นักวิเคราะห์ของเมิร์ค ฟิงค์ กล่าวว่า ธุรกิจของดอยช์ เทเลคอมในอังกฤษนั้นเล็กเกินไปที่จะแข่งกับคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดที่อิ่มตัวแล้ว ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรลดลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาออเรนจ์และที-โมบายล์ ก็ไม่ได้มีสินค้าที่จะผลักดันบริษัทขึ้นแท่นผู้นำในตลาดได้มากนักเมื่อมองในแง่ของอุปกรณ์ปลายทางอย่างมือถือ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทไม่มีของที่จะปล่อยโดนใจตลาด ไม่ว่าจะเป็นไอโฟนหรือแบล็คเบอร์รี่ สตอร์ม

แม้ว่าผู้ให้บริการในอังกฤษต่อไปจะเหลือ 4 ราย เมื่อนับรวม โวดาโฟน และฮัทชิสัน วัมเปา ด้วยนั้น คริส วัตสัน ทนายความของซีเอ็มเอส แมคเคนน่า มองว่า ผู้ให้บริการรายอื่นๆในอังกฤษคงจะขานรับกับการควบรวมกิจการครั้งนี้ เนื่องจากการแข่งขันที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่าร้อนแรง ผู้ให้บริการต่างพากันลดราคาลงเพื่อดึงและหาลูกค้าหน้าใหม่เข้าสังกัด ดังนั้น แน่นอนว่าต่อไปค่าบริการจะปรับตัวสูงขึ้นแน่นอนหลังจากที่มีบริษัทหน้าใหม่เกิดขึ้น

ขณะที่บริษัทผู้ให้บริการมือถือทั้งหลายต่างหาทางที่จะลดต้นทุนลง เนื่องจากจำนวนลูกค้าใช้บริการลดลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงนั้น การควบรวมกิจการเช่นนี้คงจะไม่รอดหูรอดตาองค์กรที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการแข่งขันของอังกฤษและสหภาพยุโรปไปได้ เพราะการให้คำมั่นเรื่องการขยายเครือข่าย คุณภาพเครือข่ายและบริการที่ดีกว่าเดิมนั้น จะกลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายคาดหวังและจับตาดูว่าน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้เมื่อไร

"ออเรนจิน่า"เนื้อหอม "ซันโตรี่" ดอดเจรจาซื้อกิจการเจากแบล็คสโตนและไลออน แคปิตอล โฮลดิ้งส์

คู่นี้ เรียกได้ว่า อยู่กันคนละทวีปแต่ก็มีใจหากันได้ เมื่อ ซันโตรี่ โฮลดิ้งส์ บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มเบียร์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่นได้เดินหน้าเจรจาเพื่อซื้อกิจการบริษัทออเรนจินา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มสัญชาติยุโรป จากแบล็คสโตน กรุ๊ป และไลออน แคปิตอล โฮลดิ้งส์ โดยเหตุผลเบื้องหลังการหาคู่ใหม่ครั้งนี้มาจากตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นที่อิ่มตัวและหดตัวลง

ชิเกโอะ คิคูชิ ผู้จัดการฝ่ายหลักทรัพย์ของทาคากิ ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า การซื้อกิจการออเรนจิน่าถือเป็นการปูทางไปสู่การขยายธุรกิจในตลาดโลก รวมถึงตลาดยุโรป เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของญี่ปุ่นอยู่ในสภาพที่อิ่มตัวแล้ว และบริษัทต่างๆก็จำเป็นต้องหาตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายตัว ดังนั้นการควบรวมกิจการกันจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ กำไรช่วงครึ่งปีแรกของซันโตรี่ร่วงลง 28% เหลือ 8.16 พันล้านเยน หรือ 88.6 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกว่าเดิม ด้านแหล่งข่าวคาดว่า การซื้อกิจการจะมูลค่ากว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะสามารถตกลงกันได้อย่างเร็วสุดภายในสัปดาห์นี้

การซื้อธุรกิจเครื่องดื่มในยุโรปครั้งนี้ จะเป็นการเปิดทางให้ซันโตรี่มีแบรนด์เครื่องดื่มอย่างโอเอซิส ชเวปส์ และแบรนด์อื่นๆซึ่งมียอดขายประมาณ 1 พันล้านยูโร หรือ 1.46 พันล้านดอลลาร์อยู่ในครอบครอง ในระหว่างนี้ ซันโตรี่เองก็อยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการกับบริษัท คิริน โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่สุดของญี่ปุ่นเช่นกัน เป้าหมายในการควบรวมกิจการก็คือ การขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

เมื่อปี 2548 แคดบิวรี ชเวปส์ ได้ขายกิจการเครื่องดื่มน้ำอัดลมในยุโรปหรือออเรนจิน่าให้กับแบล็คสโตนและไลออนมูลค่า 1.85 พันล้านยูโร และได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์มาเป็น ออเรนจิน่า ชเวปส์ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีพนักงานกว่า 2,500 คน และมีแบรนด์สินค้าอยู่ในมือ 23 แบรนด์ ซึ่งมีทั้งเครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำแร่ และน้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะจำหน่ายในยุโรปและบางส่วนในแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง

เมื่อปีที่แล้ว ซันโตรี่ก็ได้ซื้อกิจการของ Frucor ของดาน่อนในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มูลค่ากว่า 600 ล้านยูโร

นอกจากทั้ง 3 คู่ข้างต้นแล้ว ในช่วง 10 วันที่ผ่านมานี้ บริษัทต่างๆทั่วโลกได้ประกาศเทคโอเวอร์กันแบบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เริ่มจากวอลท์ ดิสนีย์ ที่ตกลงซื้อกิจการมาร์เวล เอ็นเตอร์เมนเมนท์ มูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ อีเบย์ ตกลงใจขายหุ้น 65% ที่ถืออยู่ในสไกป์ให้กับกลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้การนำของซิลเวอร์ เลค มูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์

งานนี้ จับมือกันแล้วธุรกิจใครจะรุ่งเรืองหรือรุ่งริ่ง คงจะต้องติดตามดูกันต่อไป



แท็ก In Focus:   ยุโรป   ขนม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ