กฟผ.ตั้งเป้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 63 ลดความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 11, 2009 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยตั้งเป้าเดินหน้าแผนงานก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1 พันเมกะวัตต์แห่งแรกภายในปี 2563 และปีถัดไปก่อสร้างเพิ่มอีก 1 โรง รวมทั้งก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นด้วย ด้านนักวิชาการและภาคเอกชนสนับสนุนเต็มที่ เพื่อลดค่าไฟฟ้าในอนาคต

"กฟผ.เตรียมเดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 1 แห่ง ภายในปี 2563 และอีก 1 แห่งในปี 2564 และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต" นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าว

โดยขณะนี้ กฟผ.ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนถึง 70% ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 25% ต้องนำเข้าจากพม่าถือเป็นความเสี่ยงและแรงกดดันของต้นทุนไฟฟ้า เพราะราคาก๊าซธรรมชาติจะขึ้นลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่าไฟฟ้ามีโอกาสแพงขึ้น และยังมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงของพลังงานในประเทศ เพราะพึ่งพิงก๊าซจากต่างประเทศจำนวนมาก

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยคาดว่าจะเหลือใช้อีก 19 ปี ซึ่งในช่วง 1-2 ปีนี้จะยังไม่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัว ประกอบกับไทยมีการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินถึง 25% แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวในช่วง 4 ปีข้างหน้า ประมาณปีละ 4-5% ไฟฟ้าที่ผลิตได้อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นไทยควรเริ่มต้นสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาสร้างนานถึง 13 ปี

ขณะที่นายสุวิทย์ ลิ้มวัฒนะกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนกังวลถึงค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากช่วงวิกฤติน้ำมันแพงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบันค่าไฟฟ้าในประเทศจะอยู่ระดับปานกลางและเท่ากับค่าไฟฟ้าในสหรัฐ ขณะที่รายได้ต่อคนของไทยต่ำกว่าสหรัฐมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ