รัฐทุ่มงบ 35 ลบ.ให้ปตท.วิจัยใช้ก๊าซชีวภาพในรถยนต์เป็นเชื้อเพลิงทางเลือก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2009 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ระบุว่า คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมีมติจัดสรรงบประมาณ 35 ล้านบาทให้ บมจ.ปตท.(PTT)ดำเนินโครงการวิจัยและสาธิตการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ รวมทั้งทำการวิจัยและปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพและผลิตก๊าซชีวภาพอัด(Compressed Bio-methane Gas:CBG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในรถยนต์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

โครงการดังกล่าวมาจากข้อจำกัดในการขยายสถานีบริการก๊าซธรรมาชาติ(NGV) ที่ต้องตั้งอยู่บริเวณแนวท่อก๊าซธรรมชาติ และการขนส่ง NGV ไปยังพื้นที่ห่างไกลมีต้นทุนค่อนข้างสูง ปตท.จึงเสนอจะทำโครงการวิจัยและสาธิตการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ขึ้นมุ่งเน้นไปยังพื้นที่ห่างไกล

ทั้งนี้ จะนำร่องในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ห่างไกลแนวท่อ NGV และมีต้นทุน NGV สูงถึงกิโลกรัมละ 17.45 บาทในปัจจุบัน และ ปตท.จะติดตั้งระบบสาธิตการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพและผลิต CBG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในรถยนต์และรับซื้อก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากระบบบำบัดน้ำเสีย ในโรงงานแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อจะทดสอบและเก็บข้อมูลการใช้ CBG ในรถยนต์จริง พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ได้แก่ กำแพงเพชร, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, ชุมพร และกระบี่ ต่อไป

นายวีระพล กล่าวว่า กระทรวงพลังงานตั้งเป้าผลิต CBG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน NGV ไว้ 2.64 ล้านกิโลกรัม/ปี ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลได้ 2.58 ล้านลิตร/ปี และหากกระตุ้นและดึงดูดให้เอกชนสนใจมาลงทุนผลิต CBG มากขึ้นจะส่งผลให้การส่งเสริมให้เกิดการใช้ NGV โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลจากแนวท่อส่งก๊าซแพร่หลายมากขึ้นและเป็นอีกเชื้อเพลิงทางเลือกแก่ประชาชนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ