คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ อนุมัติให้ตั้งคณะทำงานตัวแทนจากทุกหน่วยงาน เพื่อเร่งปรับปรุงระเบียบและสิทธิประโยชน์ รวมถึงการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล กระตุ้นต่างชาติเข้ามาลงทุนกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค(ROH) ในไทย
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจัดตั้งสำนักงานปฎิบัติการภูมิภาค(ROH) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับทิศทางการส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางการเป็นสำนักงานภูมิภาค
คณะทำงานชุดดังกล่าวจะรับผิดชอบในการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงระเบียบ รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ในกิจการ ROH รวมถึงการพิจารณากำหนดแนวทางการขยายการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่เป็นไปทิศทางเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและมีการกำหนดนโยบายในด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราจูงใจ มากขึ้น อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง เป็นต้น
ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจสำนักงานภูมิภาค โดยเฉพาะไทยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่บริษัทต่างชาติยังสนใจเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติ
"คณะทำงานจะเข้ามาช่วยพิจารณาถึงการปรับปรุงดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการชักจูงให้มีการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพิ่มขึ้น" นายชาญชัย กล่าว
คณะทำงานชุดดังกล่าว ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กรมสรรพากร, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายสรยุทธ เพชรตระกูล, นายสาคร สุขศรีวงศ์, นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี โดยมีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เป็นประธาน และกำหนดให้คณะทำงานชุดดังกล่าวดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อเสนอเข้าสู่การประชุมพิจารณาของบอร์ดบีโอไอต่อไป
สำหรับสำนักงานปฎิบัติการภูมิภาค เป็นกิจการที่ให้บริการแก่บริษัทในเครือในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน ครอบคลุมด้านการค้า การบริการต่างๆ การบริการทางการเงิน รวมถึงการบริหารจัดการทั่วไป โดย ปัจจุบันปัจจุบันมีผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการดังกล่าวแล้ว 81 บริษัท อาทิ บริษัทเอ็กซอนโมบิล จำกัด บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด บริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด เป็นต้น
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบกับการจัดตั้งกองทุนด้านพัฒนาเทคโนโลยี และบุคลากร ซึ่งมีกิจกรรมหลักในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ การพัฒนาบุคลากร การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การสนับสนุนและส่งเสริมเอสเอ็มอีในประเทศ รวมถึงการพัฒนาศูนย์ทดสอบกลาง เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไปสู่มาตรฐานสากล ทั้งนี้ได้มอบให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ไปดำเนินการจัดตั้งต่อไป
มาตรการสนับสนุนกองทุนข้างต้นได้ปรับปรุงมาตรการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI: Skill, Technology and Innovation) โดยกำหนดให้เงินสนับสนุนแก่กองทุนสามารถนับรวมเป็นเงินใช้จ่ายในด้าน STI ด้วย เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่นับรวมเฉพาะค่าใช้จ่ายการสนับสนุนสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยเท่านั้น ซึ่งกองทุนที่กำหนดนั้นจะเป็นกองทุนที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ โดยไม่จำกัดเฉพาะกองทุนที่ สวทช.จะจัดตั้งเท่านั้น โดยคณะกรรมการจะพิจารณาให้ความเห็นชอบกองทุนเป็นรายๆ ไป