นักวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นำเสนอผลงานวิจัยในการสัมมนา"รับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก มองอนาคตเศรษฐกิจไทย"ในประเด็น"แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย :การส่งออกและทางเลือก"โดยพบว่า การส่งออกยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งการบริโภคและการลงทุนในประเทศก็ยังพึ่งพาการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยอุปสงค์ในประเทศไม่สามารถทดแทนการส่งออกได้ แต่มีบทบาทในการบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศ
นางสาวณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แม้การส่งออกของไทยจะหดตัวอย่างมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักและมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ทั้งจากภาคการส่งออกโดยตรงและภาคเศรษฐกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง มีบทบาทอย่างมากต่อการลงทุนภาคเอกชน
ทั้งนี้ พบว่าเมื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น 1% ของจีดีพี จะมีผลต่อการบริโภค 0.11% ของจีดีพี และมีผลต่อการลงทุนภาคเอกชน 0.24% ของจีดีพี ขณะที่การตอบสนองของการส่งออกต่อการลงทุนมีมากกว่าการบริโภคมากกว่า 1 เท่าตัว สะท้อนว่าการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการบริโภค และการลงทุนในประเทศ และต่อการเพิ่มผลิตภาพ
ด้านนายชัยพัฒน์ พูนพัฒน์พิบูลย์ ผู้บริหารทีม ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แม้การส่งออกจะมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระดับสูงเช่นกัน เนื่องจากการส่งออกกระจุกตัวในกลุ่มสินค้าไฮเทคที่มีความอ่อนไหวสูงต่อรายได้ของประเทศคู่ค้า และเมื่อการส่งออกหดตัว อุปสงค์ในประเทศจะหดตัวตาม
ดังนั้น แม้การพึ่งพาการส่งออกจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศ แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางจากเศรษฐกิจภายนอกสูง เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70%ของจีพีดี
ในระยะปานกลางศักยภาพของอุปสงค์ในประเทศต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับขนาดของตลาด การขับเคลื่อนการลงทุน และการยกระดับผลิตภาพ ซึ่งตลาดในประเทศยังมีขนาดเล็ก ไม่เพียงพอรองรับการผลิตในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งในประเทศที่มีขนาดตลาดใหญ่ พบว่ามีสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีไม่เกิน 50% ขณะที่ของไทยอยู่ในระดับ 70%
ส่วนการขับเคลื่อนการลงทุน หากการส่งออกและการบริโภคในประเทศมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นเท่ากัน แต่พบว่าผลต่อเนื่องต่อการลงทุนในระยะปานกลางจากภาคการส่งออกมีมากกว่า และการลงทุนเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าคงทนที่ต้องใช้เงินลงทุนในระดับที่มากกว่าการลงทุนเพื่อการบริโภคในประเทศ
การยกระดับผลิตภาค การพึ่งตลาดการค้ามีผลชัดเจนต่อการยกระดับผลิตภาพ ดังนั้น เมื่อไทยมีการค้ามากขึ้น การส่งออกที่มีสัดส่วนสินค้าส่งออกที่ซับซ้อน และใช้เทคโนโลยีที่สูงในการผลิต สะท้อนว่าการส่งออกเป็นส่วนสำคัญต่อสร้างผลิตภาพในประเทศ และการถ่ายทอดผลิตภาพ ดังนั้น หากให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศทดแทนการส่งออก จะทำให้การผลิตภาพภายในประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย
"อุปสงค์ภายในประเทศคงไม่สามารถทดแทนการส่งออกได้ในระยะปานกลาง แต่อุปสงค์ในประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจ เมื่อเผชิญวิกฤติในขณะนั้น"นายชัยพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายชัยพัฒน์ เสนอแนะเชิงนโยบายว่าเพื่อให้การส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเน้นนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและศักยภาพในระยะยาว รักษาฐานะการเงินของภาครัฐ เอกชน และครัวเรือน ให้มี Room เพียงพอรองรับผลกระทบจากวัฎจักรเศรษฐกิจต่างประเทศ และผลักดันให้อุปสงค์ภายในเข้มแข็งขึ้น ด้วยการยกระดับผลิตภาคเพื่อเป็นแรงเสริมการส่งออกและผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนแนวคิดงานวิจัยที่มองว่า อุปสงค์ในประเทศคงไม่สามารถทดแทนการส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่หลายประเทศก็มีความพยายามกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เช่น จีน
นอกจากนี้ความพยายามกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออก ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะโครงสร้างการผลิตของไทย เป็นโครงสร้างการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก อีกทั้งการที่ไทยมีการทำพันธสัญญาการเปิดเสรีการค้า ที่ในปี 53 จะมีผลให้การลดภาษีการนำเข้าเหลือ 0% หากมีการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศจะทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น แทนที่จะมีการผลิตสินค้าในประเทศเพื่อการบริโภค
ทั้งนี้ การวางแผนนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ที่พยายามให้เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกมาขึ้น ทำให้ไทยต้องพร้อมรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศ ไม่สามารถชดเชยอุปสงค์ต่างประเทศได้ในตลาดเดิมๆ ดังนั้นจึงต้องเพิ่มบทบาทในการหาตลาดการส่งออกใหม่ๆ เช่นกลุ่มประเทศใกล้เคียง