ครม.อนุมัติหน่วยราชการก่อหนี้ผูกพันเพิ่มเป็นหมื่นลบ.คมนาคมครองแชมป์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 15, 2009 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจรวม 10 หน่วยงาน 8 กระทรวง เปลี่ยนแปลงรายการ หรือเพิ่มวงเงิน และขยายเวลาเพื่อก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รวม 25 รายการ โดยเพิ่มวงเงินผูกพันเป็น 10,346.58 ล้านบาท จากเดิม 7,466.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,879.74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 38.6% ซึ่งโครงการที่ขอผูกพันงบประมาณเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใดๆ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมขอเพิ่มเติมงบผูกพันมากที่สุดเป็น 7,602.39 ล้านบาท จากเดิมที่ผูกพันไว้ 5,120.50 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 2,481.89 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณอนุมัติให้เพิ่มขึ้นเป็น 7,550.50 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 2,430 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขขอเพิ่มงบผูกพันอีก 187.83 ล้านบาท ใน 2 รายการ ทำให้มีงบผูกพันเพิ่มเป็น 615.70 ล้านบาท อันดับสาม ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการขอเพิ่มอีก 116.70 ล้านบาท ใน 2 รายการเช่นกัน ทำให้มีงบผูกพันเพิ่มเป็น 260.16 ล้านบาท

"นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกส่วนราชการพึงระวังเรื่องการผูกพันงบประมาณให้รอบคอบมากกว่านี้ หลังจากที่ตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมชี้แจงว่าเหตุผลที่ผูกพันงบประมาณมากขึ้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกรมทางหลวงที่มีการตัดถนนผ่านชุมชนที่ต้องสร้างส่วนเสริมเพิ่มขึ้น เช่น สะพานลอย ช่องจราจร จึงทำให้ใช้งบประมาณมากขึ้น และได้เร่งรัดให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการเร่งรัดลงนามในสัญญาและกำกับติดตามเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามกรอบเวลาและวงเงินงบประมาณที่ได้รับด้วย" นายวัชระ กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้ท้วงติงมากที่ส่วนราชการได้ก่อหนี้ผูกพันเพิ่มขึ้นมากทั้งที่โครงการไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่มีวงเงินเพิ่มมากขึ้น และขอให้ส่วนราชการพิจารณาให้รอบคอบก่อนเสนอโครงการ เพราะหากเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯแล้วจะทำถูกซักถามอย่างหนักและนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ได้

นายวัชระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาผลการประชุมของคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ที่เห็นว่าคณะกรรมการติดตามเร่งรัดฯ จะติดตามและประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเท่านั้น ขณะที่การตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการควรเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงและหน่วยงานเจ้าของโครงการและหน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะในการตรวจสอบ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังเห็นว่าอาจมีโครงการซ้ำซ้อนกันหลังจากที่ ครม.เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ ซึ่งสำนักงบประมาณต้องเข้ามากลั่นกรองโครงการอย่างรอบคอบ ที่สำคัญการใช้จ่ายเงินตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญทุกบาททุกสตางค์ด้วย

ทั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่มอบหมายให้สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังกำหนดกลไกการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากพ.ร.ก.ดังกล่าว โดยให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี เพื่อให้โปร่งใสและตรวจสอบได้

รวมทั้งให้กระทรวงการคลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการใช้จ่ายเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 50 และให้สำนักงบประมาณเป็นผู้รับผิดชอบในการกลั่นกรองความซ้ำซ้อนของโครงการ พื้นที่ดำเนินการ และแหล่งเงินแต่ละโครงการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ