นางเทียนทิพ สุพานิช หัวหน้านักวิจัย ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ สายนโยบายกาเรงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึง ความท้าทายของเศรษฐกิจและการเงินในโลกยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ในงานสัมมนาวิชาการของ ธปท. เรื่อง"รับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก มองอนาคตเศรษฐกิจ"ว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ที่เป็นทั้งวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก คาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปี กว่าที่เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอยจะฟื้นตัว โดยจะเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ
วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ทำให้ภาครัฐและธนาคารกลาง มีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบาย ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อลดแรงกดดันต่อตลาดเงินและช่วยเหลือตลาดสินเชื่อ รวมทั้งการใช้นโยบายการคลัง โดยการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม จากสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ด้านหลัก คือ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่จะเติบโตอย่างช้าๆ และอยู่ในอัตราต่ำ, อัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นในอนาคตตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่สูงขึ้น, ทิศทางดอลลาร์ที่อ่อนค่า และ ต้นทุนทางการเงินที่ปรับสูงขึ้น
นางเทียนทิพ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำสอง ถ้าภาคเอกชนไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันหากการใช้จ่ายภาครัฐทยอยลดลงในอนาคต นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะ 4-5 ปีมีทิศทางปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากขนาดของของศักยภาพ ส่วนเกินของการผลิต(Out gap)ที่ใช้ในการวิเคราะห์มีแนวโน้มสูงเกินไป
และผลของมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายแรงกดดันในตลาดเงิน และการช่วยเหลือตลาดสินเชื่อของธนาคารกลาง แม้จะสามารถแก้ไขได้ทันเวลา แต่ยังมีความเสี่ยงที่หนี้ภาครัฐในระดับสูง อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะต่อไป นอกจากนี้ทิศทางราคาสินค้าในอนาคตจะมีผลต่อเงินฟ้อให้ปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า
นางสาวเกศสรินทร์ ตันสุวรรณรัตน์ เศรษฐกรฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผลจากสภาวะแวดล้อมในโลกต่อนโยบายของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย จากการที่เศรษฐกิจชะลอลง ทำให้ต้องพึ่งพาการส่งออกน้อยลง จนต้องมีการใช้มาตรการการคลังกระตุ้นประสิทธิภาพการผลิต เพื่อหยุดวิกฤติ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้การลงทุนภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว แต่จะทำให้หนี้สาธารณะปรับสูงขึ้น
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น กลายเป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต จากการที่สินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปรับสูงขึ้น และส่งผลต่อราคาสินค้าในประเทศด้วย แต่เศรษฐกิจที่เปราะบาง จำเป็นต้องเลือกการใช้นโยบายการเงินในการดูแลเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และดูแลการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่า ทำให้มีการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ มีการกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ โดยลดการถือครองดอลลาร์ และเอกชนจะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศที่พัฒนาแล้วสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ทำให้ประเทศเหล่านี้ รวมทั้งไทย ต้องเตรียมรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และช่วยประคองเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง
และต้นทุนทางการเงินที่ปรับสูงขึ้น จะมีผลต่อการบริหารหนี้สาธารณและหนี้ต่างประเทศ ที่ทำให้การบริหารต้นทุนทำได้ยากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาตลาดเงินทุนในประเทศ ให้มีความลึกและกว้าง รองรับผลกระทบการเคลื่อนย้ายเงินทุน และเป็นทางเลือกในการระดมทุน
อย่างไรก็ตาม จากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ท้าทายมากขึ้น โดยเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราชะลอลง อัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการเงินที่ปรับสูงขึ้น และเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่จำเป็นต้องตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เตรียมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและแสวงหานโยบายที่เหมาะสมรองรับความท้าทายรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังจะมีความท้ายทายมากขึ้น โดยการกระตุ้นของภาครัฐควรใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ฟื้นความเข้มแข็งของภาคเอกชน ให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยามที่ภาคการส่งออกอาจพึ่งพาได้น้อยลง และการพัฒนาตลาดทุนในประเทศจะช่วยเพิ่มเครื่องมือในการบริหารหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศ รวมถึงรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในอนาคต
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า สนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอยคงต้องค่อยๆฟื้นตัว โดยที่ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า ต้นทุนการเงินและอัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้น
โดยขอตั้งข้อสังเกตว่า จากผลกระทบใน 4 ด้านต่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศไทย จะมีผลทำให้ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากรากเหง้าของปัญหาเกิดจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้ผลิตสินค้า แต่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ กลับเป็นฝ่ายผลิตกระดาษหรือเพิ่มสินเชื่อผ่านการออกตราสารหนี้ CDO หรืออื่นๆ จนทำให้เกิดการกู้เงินจนเกินกำลัง
ทั้งนี้ ขอเสนอแนะให้ ธปท. มีการศึกษาเรื่องความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก และวิกฤติในภาคสถาบันการเงินของสหรัฐ ที่อาจจะนำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้อีกหรือไม่