ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วงเทียบสกุลเงินหลักๆ หลังข้อมูลศก.สหรัฐสดใสหนุนนลท.เทขายดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 16, 2009 07:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 ก.ย.) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐทำให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์และหันเข้าเทรดในตลาดหุ้น นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงเคลื่อนไหวในช่วงขาขึ้นได้กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าเทรดในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

บลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.29% เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรที่ระดับ 1.4665 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.4623 ยูโร/ดอลลาร์ และดิ่งลง 0.05% เมื่อเทียบกับฟรังค์ที่ 1.0341 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0346 ฟรังค์/ดอลลาร์

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.42% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 91.100 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 90.920 เยน/ดอลลาร์ และร่วงลง 0.42% เมื่อเทียบปอนด์ที่ 1.6498 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.6568 ปอนด์/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.29% แตะที่ 0.8641 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8616 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.70% แตะที่ 0.7054 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7005 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันหลังจากสหรัฐเปิดเผยว่ายอดค้าปลีกโดยรวมในเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 2.7% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2550 และดัชนีภาคการผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 18.88 จุดในเดือนก.ย. จากระดับ 12.08 ในเดือนส.ค.

เมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่า ผลพวงของวิกฤตการเงินซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมานั้น จะแผ่ขยายเป็นวงกว้างและยืดเยื้อยาวนาน พร้อมกล่าวว่าธนาคารกลางอังกฤษจะสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศต้องมีทุนกันชน (capital buffers) และมีสินทรัพย์คล่องตัวเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ระบบการเงินมีความอ่อนไหวน้อยลงกว่านี้และเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ซ้ำรอยกับปีที่ผ่านมา

สถาบัน ZEW เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเยอรมนีขยายตัวสู่ระดับ 57.7 จุดในเดือนก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.1 จุดในเดือนส.ค.

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีหลักที่ใช้วัดภาวะเงินเฟ้อ ร่วงลงแตะระดับ 1.6% ในเดือนส.ค. จากระดับ 1.8% ในเดือนก.ค. ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2548 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ