นักวิชาการเตือนรัฐระวังใช้จ่ายในระยะยาว/"หม่อมเต่า"ห่วงศก.ไทยพังอีกรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2009 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้บริหารทีม ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เสนอบทวิจัยเรื่อง“นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยในระยะปานกลาง:ความท้าทายหลังวิกฤติและแนวทางที่เหมาะสมว่า ในระยะ 5 ปีข้างหน้ารัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะมีรายรับไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งจะกระทบต่อแผนการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวของรัฐบาลและจะส่งผลต่อศักยภาพการผลิตของประเทศ

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานโยบายการคลังได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจในขณะที่การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอ ทำให้เกิดการใช้จ่ายระดับสูงและจำเป็นต้องฟื้นฟูฐานการคลัง

“การใช้จ่ายของภาครัฐในตอนนี้สูงกว่าช่วงวิกฤติปี 40 ในระยะข้างหน้าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีข้อจำกัดทางด้านหนี้สาธารณะ ขณะที่รายได้ภาครัฐปีนี้จะเริ่มหดหายจากเศรษฐกิจชะลอ และหากเศรษฐกิจยังไม่มีความแน่นอนในการฟื้นตัวดังนั้นความเสียหายต่อรายได้ของรัฐจะมีมากขึ้นและเป็นข้อจำกัดการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะต่อไป" น.ส.ชญาวดี ระบุ

น.ส.ณชา อนันต์โชติกุล นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้าภาระดอกเบี้ยจากหนี้ภาครัฐที่โน้นสูงขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันต่องบลงทุนรัฐบาล โดยทุกการใช้จ่าย 100 บาทรัฐจ่ายดอกเบี้ย 10 บาท

ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่ายประจำ แต่ขณะที่รัฐบาลมีอุปสรรคในการขยับฐานภาษี เพื่อทำรายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายประกอบกับรายจ่ายประจำ 10% ของรายจ่ายทั้งหมด 50% เป็นรายจ่ายด้านพนักงานรัฐจึงไม่สามารถที่จะประหยัดได้

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการ ธปท.กล่าวว่า มีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อไทย โดยเฉพาะผลกระทบจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐที่มีอยู่กว่า 400 แห่ง ทำให้ธนาคารกลางต้องให้ความช่วยเหลือมูลค่ากว่า 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจเกิดปัญหาล้มละลายเช่นเดียวกับกรณีของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส อีก จึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น ปัจจัยความไม่สงบของการเมืองในประเทศยังส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของภาคธุรกิจ เพราะการประกาศใช้ พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในวันที่ 18-22 ก.ย.นี้ สะท้อนว่าสถานการณ์ในประเทศไม่เรียบร้อย ซึ่งนักลงทุนต่างชาติอาจไม่เข้าใจว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินหรือเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่เชื่อว่ารัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

“สิ่งที่ภาคเอกชนห่วงมากที่สุด คือความไม่สงบเรียบร้อยที่จะกระทบต่อธุรกิจ ทำให้ภาคเอกชนทำธุรกิจไม่ได้"ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้มีการพูดคุยถึงภาพรวมเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้มีการประสานงานระหว่าง ธปท.กับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิดมากขึ้น พร้อมยืนยันว่า ธปท. ไม่มีนโยบายดูแลยืนอัตราแลกเปลี่ยนในระดับใดระดับหนึ่งเพราะการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หากการเมืองยังไม่เสถียรภาพ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งความเชื่อมั่นของเอกชนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

“เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการใช้นโยบายการคลังที่มีการเบิกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมือง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีสัญญาณดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกเกิน 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องมา 4-5 เดือนแล้ว แต่ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป"นายเอกนิติ กล่าว

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเสวนาหัวข้อ “รับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก มองอนาคตเศรษฐกิจไทย" ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาลทั่วโลก แต่ส่วนตัวมีความกังวลว่าหากมีการหยุดอัดฉีดเม็ดเงินอาจส่งผลให้เศรษฐกิจฟุบลงอีกเป็นรูปตัวดับเบิ้ลยู เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกขณะนี้ยังมีความเปราะบางระดับสูง

ทั้งนี้ รัฐบาลควรปรับปรุงการใช้งบประมาณให้กลับมาสมดุลโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว เพราะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมากอาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ประกอบกับความเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินสหรัฐจะล้มละลายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาอีก

“เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้ต้องมาจากการพัฒนาคน โดยเฉพาะคนระดับล่างที่ไม่มีส่วนร่วมต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาดูแลไม่ให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยให้ความรู้ ทักษะและดูแลด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้" นาย สมชัย ระบุ

ส่วนปัญหาการเมืองได้สร้างความเสียหายในระบบเศรษฐกิจจากการหาเสียงแบบใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้ประชาชนถูกแบ่งแยกของกลุ่มการเมือง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ต้องคำนึงถึง 2 ประเด็น การให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และเมื่อมีการเลือกตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ต้องให้โอกาสรัฐบาลบริหารประเทศ และบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องยอมรับการตรวจสอบ

นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากรัฐบาลมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งตามเป้าหมายที่วางไว้ เชื่อว่าภายใน 12-15 เดือน เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากภาวะหดตัวและกลับมาขยายตัวอยู่ในระดับเท่าเดิมก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลจะต้องใช้โนบายการคลังกระตุ้นต่อไปจนถึงปี 55

ขณะที่สิ่งสำคัญคือรัฐต้องสามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนต่อเนื่องจากรัฐบาลด้วย เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจจากแรงกระตุ้นภาครัฐไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้ที่รัฐต้องนำชำระหนี้ในระยะต่อไป

นอกจากนั้นกังวลว่าหากกโครงการไทยเข้มแข็งระยะที่ 2ไม่เกิดขึ้นจะทำให้ภาคเอกชนมาสานต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อจากรัฐบาลไม่ได้ในช่วง 3 ปีนับจากนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ