นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริการ และสินค้าไทย รวมถึงเตรียมแผนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) สำหรับสาขาที่ไทยมีศักยภาพ โดยจะจัดทำแล้วเสร็จเดือน ก.พ.53 จากนั้นจะเผยแพร่ต่อประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ จากผลศึกษาผลกระทบการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของสมาชิกอาเซียนในปี 58 พบว่า ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) จะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ถูกลง เพราะอาเซียนได้ลดและยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้า รวมถึงอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี และปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากขึ้น เช่น พิธีการศุลกากร โลจิสติกส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ นักลงทุนอาเซียน จะได้ประโยชน์จากสิทธิในการลงทุนที่มากขึ้นเท่าคนในชาติอาเซียนที่จะเข้าไปลงทุน ได้รับการคุ้มครองการลงทุน และการระงับข้อพิพาท รวมทั้งเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในภูมิภาคได้อย่างเสรี เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ขาดแคลนแรงงานฝีมือ ขณะที่ตลาดจะเกิดการแข่งขันผลิตสินค้า และขายสินค้ามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าในราคาถูกลง
ขณะเดียวกัน ยังมีสินค้า และบริการจำนวนมากที่ผู้ผลิต และผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์ เพราะมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ สินค้าสิ่งทอ บริการสุขภาพ ยานยนต์ และบริการคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะสาขาธุรกิจประมวลผลข้อมูลและฐานข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ไทยได้รับผลกระทบ ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ข้าว กาแฟ ยาและเครื่องสำอาง เพราะมีการแข่งขันสูงขึ้น แต่ชา และถั่วเหลือง จะไม่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคา เพราะไทยมีการผลิต หรือผลิตเพื่อส่งออกน้อย
"ผลการศึกษา เมื่อมองในแง่ผลประโยชน์อาเซียนภาพรวม จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างกว้างขวาง เพราะอาเซียนจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีแรงผลักดันสำคัญ และมีอำนาจต่อรองในเวทีโลก แม้จะมีผลกระทบบ้าง" นางนันทวัลย์ กล่าว