ธปท.ปรับระบบเรียกเก็บเงินระหว่างแบงก์ให้หักบัญชีด้วยภาพเช็คทดลองใช้ พ.ย.-ธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 17, 2009 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมใช้ระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คระหว่างธนาคารด้วยวิธีการใหม่ ที่เรียกว่าระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค(Imaged Cheque Clearing and Archive System-ICAS) กำหนดเปิดใช้งานระบบใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในเดือน ก.พ.53 และจะขยายผลการใช้งานให้ครบทั่วประเทศภายในปี 55 แต่จะเริ่มทดลองใช้ก่อนในเดือน พ.ย.-ธ.ค.52

ระบบดังกล่าวจะใช้ภาพเช็คแทนตัวเช็คจริงในกระบวนการเรียกเก็บ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อย่นระยะเวลาการเรียกเก็บเช็คให้เหลือ 1 วันทำการทั่วประเทศ และลดต้นทนการขนส่งตัวเช็คในกระบวนการเรียกเก็บ

ทั้งนี้ การเรียกเก็บเงินตามเช็คด้วยภาพในระบบ ICAS จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจและประชาชนผู้ฝากเช็ค โดยในระยะแรกของการเริ่มใช้งานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในเดือนก.พ.ปีหน้านั้น จำทำให้ธนาคารสามารถขยายเวลาการรับฝากเช็คเคลียริ่งกรุงเทพฯจากปัจจุบันที่ปิดรับฝากที่ประมาณ เวลา 13.00-14.00 น.ไปจนถึงเวลาทำการของธนาคารหรือ ประมาณ 14.30-15.30 น.

และหลังจากนั้นจะขยายผลไปใช้กับการเรียกเก็บเงินตามเช็คที่สั่งจ่ายในต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีการส่งเรียกเก็บที่เรียกว่า“เช็ค B/C (Bill for Collection)ที่ต้องใช้ระยะเวลาการเรียกเก็บ 3 วันทำการให้เหลือเพียง 1 วันทำการ และในลำดับถัดไป ธปท.จะขยายผลการใช้งานไปในเขตภูมิภาค โดยจะทยอยดำเนินการจนครบทั่วประเทศภายในปี 55 ซึ่งจะทำให้ระบบการหักบัญชีเช็คทั่วประเทศเป็นระบบเดียวและการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั่วประเทศสามารถทราบผลได้เพียง 1 วันทำการ

สำหรับวัตถุประสงค์ของการนำระบบ ICAS มาใช้เพื่อทดแทนระบบ ECS หรือ ระบบการหักบัญชีเช็คเรียกเก็บระหว่างธนาคารในเขตกทม.และปริมณฑลด้วยอิเล็กทรอนิกส์ 1 วันทำการและนำมาทดแทนระบบการหักบัญชีเช็คในต่างจังหวัดที่ใช้เวลา 1 วันทำการ นอกจากนี้ก็นำมาทดแทนระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชีหรือ B/C ที่ใช้เวลาทำการ 3-5 วัน

นายฉิม กล่าวว่า การวางระบบดังกล่าวใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนของ ธปท.กว่า 300 ล้านบาท และเงินลงทุนจากธนาคารพาณิชย์เป็นสมาชิกของธปท.ที่มีอยู่ 38 แห่ง อีกประมาณ 1,700 ล้านบาท

"ระบบใหม่ยืนยันว่าจะทำให้ต้นทุนลดลงแน่นอน ส่วนลดลงเหลือเท่าไรนั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ที่แน่ๆ ต้นทุนเช็คต่อฉบับในปัจจุบันอยู่ที่ 40-50 บาท จะลดลงโดยเฉพาะต้นทุนขนส่งที่สูงมาก" นายฉิม กล่าว

สำหรับ ระบบ ICAS ยังเป็นศูนย์จัดเก็บภาพเช็คอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารทางการเงินอื่นที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย โดย ธปท.ได้เสนอระบบดังกล่าวเป็นระบบนำร่องของประเทศ เพื่อให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้สิ่งพิมพ์ออกจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของระบบดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานทางกฎหมายและกระบวนการทางศาลได้ ซึ่งยืนยันว่าระบบนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยพยายามให้มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนน้อยที่สุด

ปัจจุบันมูลค่าเช็คต่อวันอยู่ที่ 250,000 ล้านบาท แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 200,000 ล้านบาท คิดเป็น 200,000 ฉบับ/วัน ที่เหลือเป็นเขตต่างจังหวัด 50,000 ล้านบาท คิดเป็น 50,000 ฉบับ/วัน โดยรวมแล้วมูลค่าเช็คเฉลี่ยต่อฉบับอยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท ส่วนเม็ดเงินที่สูงกว่านี้ส่วนใหญ่ใช้ระบบการชำระเงินผ่านBAHTNET ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโอนเงินสำหรับมูลค่าสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ