พณ.รอทำประชาพิจารณ์ครบทั่วปท.ก่อนสรุปความเห็นแก้กม.ค้าปลีกฯ เสนอครม.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 18, 2009 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงกฎหมายการประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นทั้งหมด 8 ครั้ง ก่อนนำผลสรุปที่ได้มารวบรวมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าสู่กระบวนการออกเป็นกฎหมายต่อไป

ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีมูลค่าตลาด 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมีการจ้างงานกว่า 6 ล้านคน

"ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าประเทศไทยควรมีกฎหมายการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งหรือไม่ เพราะหลายฝ่ายยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ จึงต้องระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งกรมการค้าภายในกำหนดเปิดระดมความคิดเห็นทั่วประเทศ 8 ครั้ง" รมว.พาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา"พ.ร.บ.ค้าปลีก กติกาอยู่ร่วมกันในยุคทุนไร้พรมแดน"

นายวิเชียร ตั้งธรรมสถิต นายกสมาคมคุ้มครองการทำกินของคนไทย กล่าวว่า กฎหมายค้าปลีกควรมีมานานแล้ว การใช้กฎหมายผังเมืองควบคุมการขยายสาขาไม่เพียงพอในทางปฏิบัติ ทั้งนี้สมาคมฯ เตรียมยกร่างกฎหมายฉบับประชาชนควบคู่ไปกับร่างของกระทรวงพาณิชย์ที่มีข้อบกพร่องอยู่มาก

โดยเบื้องต้นจะกำหนดให้ธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ต้องมีพื้นที่ทุกสาขารวมกันไม่เกิน 100,000 ตารางเมตร ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรูปแบบอื่นที่ใช้สัญลักษณ์(โลโก้) ขใกล้เคียงกัน หรือมีระบบบริหารจัดการที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นธุรกิจเจ้าของเดียวกัน และมีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า หากรัฐต้องการดูแลปัญหาค้าปลีกอย่างจริงจัง ควรนำมติครม.เดิมที่เห็นชอบให้ห้างค้าปลีกทุกรายชะลอการขยายสาขาชั่วคราวมาบังคับใช้ไปก่อนจนกว่ามีกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งสมาคมฯ อยู่ระหว่างหารือกับสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมคุ้มครองการทำกินของไทย เพื่อจัดทำหนังสือถึง รมว.พาณิชย์ และนายกรัฐมนตรีให้ผลักดันอีกครั้งในเร็วๆ นี้

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การออกฎหมายค้าปลีกอาจไม่เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมธุรกิจ เพราะปัจจุบันมีกฎหมายผังเมืองดูแลอยู่แล้ว นอกจากนี้ร่างกฎหมายค้าปลีกที่มีอยู่ไม่มีความชัดเจนว่าธุรกิจใดเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนแนวทางการพัฒนาโชห่วยก็ไม่ได้ช่วยทุกราย เป็นการช่วยแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้คุ้มการลงทุนให้ความรู้และพัฒนา



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ