นายเสมอใจ สุขสุเมฆ ผู้อำนวยสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวในงานประชุมเสวนาโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกับองค์กรเอกชนและองค์กรสาธารณะ จัดโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 ฝ่าย (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาการธนาคาร หรือ กกร.) ว่า ประเทศใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 70% ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นก๊าซฯ จากอ่าวไทย และ 1 ใน 3 มาจากสหภาพพม่า การกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่เพิ่มต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นขณะที่พลังงานที่มีอยู่ในประเทศกลับลดลง ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ในแผนพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ 10 ปีต่อจากนี้ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) จะเพิ่มขึ้นจากปี 2522 อยู่ที่ 22,045 เมกะวัตต์ เป็น 44,281 เมกะวัตต์ ในปี 2564 โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และคาดว่าจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาตัดสินใจได้ภายในสิ้นปี 2553 หรือต้นปี 2554
นายเจน นำชัยศิริ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การพิจารณาข้อเท็จจริงของประเทศเรื่องการใช้พลังงานผลิตไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงและความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งมีการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลเป็นหลัก เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดอื่น ที่ในอนาคตเห็นแน่นอนว่าเชื้อเพลิงเหล่านี้ต้องหมดลง
ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแม้จะผลิตได้เองในประเทศถึง 60% แต่อีก 40% เป็นการนำเข้าพลังงาน ได้แก่ เขื่อนผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว การนำเข้าก๊าซจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากเกิดปัญหาไม่สามารถนำเข้าก๊าซได้ย่อมส่งผลกระทบเหมือนเช่นที่ผ่านมา ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณาถึงข้อเท็จจริงการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงและหันมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งทางเลือกของการใช้พลังงานถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องด้วยเสถียรภาพด้านราคา และปริมาณสำรองที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะหากดูพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) และภาวะโลกร้อนที่คาดว่าจะมาเร็วกว่าคาดการณ์ พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ได้หรือไม่อยู่ที่ประชาชน แต่การตัดสินใจควรอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลไม่ใช่ความกลัว
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สนับสนุนให้ภาครัฐมีความชัดเจนในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เพราะพลังงานเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจและการแข่งขัน หลายประเทศมีการพัฒนาพลังงานของตนเองเพื่อให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยคิดพร้อมกับเกาหลีใต้และไต้หวัน และประเทศเหล่านั้นได้พัฒนาการก่อสร้างไปแล้ว และวันนี้เรากำลังคิดไปพร้อมประเทศเวียดนาม ซึ่งเวียดนามได้ตัดสินใจพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกในปี 2563 กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว คงไม่ใช่กระทรวงพลังงานผลักดันเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกัน