สื่อคาดโอบามาและหู จิ่นเทา เจรจาประเด็นการค้าเสรีและเกาหลีเหนือที่นิวยอร์ก

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 22, 2009 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีน และ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ มีกำหนดพบปะพูดคุยกันในวันนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้นำจีนจะกดดันผู้นำสหรัฐให้รับประกันว่าสหรัฐจะไม่เมินเฉยต่อคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในเรื่องการค้าเสรี อย่างไรก็ดี ทั้งจีนและสหรัฐก็คงจะไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งเรื่องการเก็บภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากจีนมาบดบังความร่วมมือที่มีต่อกันในด้านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องเกาหลีเหนือ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เดวิด เอ็ม แลมพ์ตัน ผู้อำนวยการด้านจีนศึกษาของ Johns Hopkins University’s School of Advanced International Studies กล่าวว่า จีนคงจะไม่ต้องการให้นานาประเทศเห็นว่าเปิดศึกกับสหรัฐ ในขณะเดียวกัน จีนก็ไม่ต้องการให้สหรัฐเดินหน้าไปตามทิศทางดังกล่าวมากไปกว่านี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่า จีนกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็สูงขึ้นเช่นกัน และมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าญี่ปุ่นในปีหน้าขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ และในฐานะที่จีนเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรายใหญ่สุดของสหรัฐ ในช่วงที่รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มปล่อยกู้จำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เนื้อหาในการประชุมของผู้นำจีนวันนี้จึงมีน้ำหนักเป็นพิเศษ

บลูมเบิร์กรายงานว่า โอบามาและหู จิ่นเทา พบกันเป็นครั้งแรกในการประชุมสุดยอด G-20 ที่ลอนดอนเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และโอบามาก็วางแผนที่จะเดินทางเยือนจีนในเดือนพ.ย.นี้

เคนเนธ ไลเบอร์ทัล ผู้อำนวยการศูนย์จีนจอห์น แอล ธอร์นตัน ของสถาบันบรู๊กกิ้ง กล่าวว่า วาระระดับทวิภาคีได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว นับตั้งแต่ที่โอบามาได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้นำสหรัฐ จีนกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องราวใหม่ๆที่เกี่ยวกับจีนก็เข้ามามากขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง และการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีการประชุมระดับโลกเป็นครั้งแรกที่มีทั้งเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน พลังงานสะอาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการไม่แพร่กระจายนิวเคลียร์

เหอ หยาเฟย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่า ในการประชุม G-20 จีนคงจะพุ่งเป้าไปที่การผลักดันให้ประเทศต่างๆยึดมั่นในการหลีกเลี่ยงที่จะใช้ลัทธิการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เข้าเป็นสมาชิกในสถาบันการเงินระดับสากลมากขึ้น รวมทั้งไอเอ็มเอฟด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ