จีนจะเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเงิน ซึ่งรวมถึงการเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในเวทีโลก เมื่อผู้นำ 20 ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาประชุมร่วมกันที่เมืองพิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่จะถึงนี้
เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของทางการจีนเผยว่า จีนจะเน้นย้ำให้ที่ประชุม G-20 เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินและการคลังที่ช่วยเหลือเกื้อกูลไปจนกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปอย่างยั่งยืนมั่นคง
นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว จีนยังต้องการผลักดันให้มีการปฏิรูปกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกด้วย โดยในสัปดาห์ที่แล้ว กัวะ ฉิงปิง ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ได้กล่าวเอาไว้ว่า ที่ประชุมสุดยอด G-20 ที่พิตต์สเบิร์กควรมุ่งไปที่การถ่ายโอนอำนาจการลงคะแนนเสียงใน IMF และธนาคารโลก จากประเทศพัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา
ด้านจู กวางเหยา รัฐมนตรีช่วยคลัง กล่าวว่า จีนต้องการให้สิทธิในการออกเสียงใน IMF และเวิลด์แบงก์ ได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาในสัดส่วน 50-50
ปัจจุบัน ประเทศพัฒนาแล้วได้สิทธิออกเสียงใน IMF ในสัดส่วน 57% ขณะที่จีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆได้สิทธิที่เหลือ ส่วยในเวิลด์แบงก์นั้น ประเทศพัฒนาแล้วมีอำนาจในการลงคะแนนเสียง 56%
นายจูกล่าวว่า ประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาควรมีสิทธิในการแสดงความเห็นเท่าเทียมกันครึ่งต่อครึ่งในสถาบันทั้งสอง เมื่อพิจารณาจากอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนและประเทศเกิดใหม่ในเศรษฐกิจโลก
ขณะที่นายกัวะกล่าวว่า ความต้องการอีกประการหนึ่งของรัฐบาลจีนก็คือการได้เห็นตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาวุโสในฝ่ายบริหารของไอเอ็มเอฟเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ตามธรรมเนียมแล้ว ประธานไอเอ็มเอฟจะเป็นชาวยุโรป ส่วนประธานเวิลด์แบงก์จะเป็นชาวอเมริกัน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา จะเป็นตัวแทนจีนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G-20 โดยมีรองนายกฯ หวัง ฉีชาน, รมว.คลัง เซียะ ซูเหริน และผู้ว่าการแบงก์ชาติโจว เสี่ยวฉวน ร่วมเดินทางไปประชุมที่สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ด้วย