(เพิ่มเติม) ไทยชูการ์ฯ คาดราคาน้ำตาลโลกอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องถึงกลางปี 53 ตามดีมานด์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2009 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด คาดว่า ทิศทางราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบันที่ระดับ 21-22 เซนต์/ปอนด์นั้น จะยังสูงต่อเนื่องในระดับนี้ไปจนถึงเกือบกลางปี 53 ที่ระดับ 20 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากปัจจัยเรื่องความต้องการน้ำตาลที่สูงขึ้นมากโดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย

ในส่วนของอินเดียได้คาดการผลผลิตปี 52/53 ว่าออกมาน้อยกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ 9 ล้านตัน ดังนั้น จะทำให้อินเดียต้องเพิ่มปริมาณการนำเข้าจากแหล่งอื่นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในการส่งออกน้ำตาลทราย

ส่วนปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่ส่งผลดีต่อราคาน้ำตาลทรายในฤดูกาลผลิต 52/53 คือ เหตุผลจากปริมาณผลผลิตของหลายประเทศไม่เพียงพอจากปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้กองทุนเก็งกำไร(เฮดฟันด์)นำปัจจัยนี้เข้ามาเก็งกำไรราคาน้ำตาลในตลาดล่วงหน้ามากขึ้น

"จากเหตุผลทั้งหมดเชื่อว่าจะเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในเรื่องราคา โดยทำให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น จากการคาดการว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี" นายสิริวุทธิ์ กล่าวในการเสวนา เรื่อง"เจาะลึกสถานการณ์น้ำตาลทรายและเอทานอลและโอกาสของชาวไร่อ้อย"

ทั้งนี้ ประเมินว่าจากภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นสำหรับฤดูการผลิตปี 52/53 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 900-950 บาท/ตันอ้อย จากฤดูการผลิตปี 51/52 อยู่ที่ 830 บาท/ตันอ้อย และราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในปี 52/53 จะอยู่ที่ประมาณ 1,100 บาท/ตันอ้อย ขณะที่ปี 52/53 คาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศจะอยู่ที่ระดับ 72 ล้านตันอ้อย จากปี 51/52 ซึ่งอยู่ที่ 66.46 ล้านตันอ้อย คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 ล้านไร่ และมีชาวไร่อ้อยเพิ่มเป็น 1.9 แสนราย

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะระดับราคาในปัจจุบันที่ประมาณ 22-23 บาท/กก. ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงพอสมควรแล้ว

สำหรับสถานการณ์การผลิตเอทานอลนั้น ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลที่เปิดเครื่องเดินเครื่องแล้ว 18 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม 2.77 ล้านลิตร/วัน จากปริมาณโรงงานผลิตเอทานอลที่ได้รับอนุญาต 45 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 12.5 ล้านลิตร/วัน

ทั้งนี้ คาดว่าจนถึงปี 53 จะมีโรงงานผลิตเอทานอลสามารถเปิดเครื่องได้อย่างน้อย 4-5 โรงงาน ซึ่งจะทำให้ในปี 53 มีกำลังการผลิตเอทานอลรวมประมาณ 5.69 ล้านลิตร/วัน จากทั้งหมด 23 โรงงาน ซึ่งเชื่อว่าเกินพอสำหรับความต้องการใช้ภายในประเทศ

นายสิริวุทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีที่คาดว่าจะมีการใช้เอทานอลประมาณ 9 ล้านลิตร/วันในปี 2565 นั้น เชื่อว่าเพียงนำวัตถุดิบครึ่งหนึ่งจากอ้อยและมันสำปะหลังที่เหลือจากการบริโภคในประเทศมาใช้ผลิตเอทานอลก็จะทำให้มีเอทานอลเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศในแต่ละปีแล้ว

ส่วนปัจจัยที่มองว่าจะส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเอทานอล คือ การบูรณาการของทุกภาคส่วนที่จะนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้, การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมถึงการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 และการจัดให้มีเอทานอลสำรองไว้เพื่อป้องกันการขาดแคลนในช่วงปลายฤดูการผลิตอ้อยและมันสำปะหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ