นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)ไทย-เปรูว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ไทยลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ภายใต้พิธีสารระหว่างไทยกับเปรู เพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ
จากนี้ไปรัฐบาลจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และหากได้รับความเห็นชอบไทยและเปรูจะลงนามในพิธีสารดังกล่าวในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค(กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก) เดือน พ.ย.นี้ ที่ประเทศสิงคโปร์
"2 ประเทศได้ตกลงเปิดเสรีการค้าบางส่วนหรือประมาณ 70% ของสินค้าทั้งหมด โดยในจำนวนนี้เป็นสินค้าที่ลดภาษีเหลือ 0 ทันที 50% และลดภาษีสินค้าเพิ่มอีก 20% เหลือ 0 ภายใน 5 ปี ซึ่ง 2 ประเทศได้ลงนามในเอกสารทั้ง 2 ฉบับไปแล้วเมื่อปี 48 และ 49 แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะต้องปรับรายการสินค้าและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าให้เป็นระบบพิกัดภาษีศุลกากร 2007 ตามข้อกำหนดขององค์การศุลกากรโลก"นางนันทวัลย์ กล่าว
นางนันทวัลย์ กล่าวต่อว่า เมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้ไทยจะได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น สินค้าไทยจะได้รับการลด/ยกเว้นภาษีจากเปรู ทำให้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งช่วยขยายโอกาสการส่งออกของไทย โดยสินค้าไทยที่มีโอกาส ได้แก่ รถปิกอัพ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังได้ประโยชน์ในแง่โครงสร้างการผลิตที่เกื้อหนุนกันคือ สินค้าส่งออกของเปรูมายังไทยเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าอุตสาหกรรมขั้นต้น เช่น สังกะสี, เศษทองแดง, ปลาหมึกแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งไทยต้องนำเข้าอยู่แล้ว การทำความตกลงกับเปรูทำให้ไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากเปรูได้ในราคาที่ถูกลง
นอกจากนี้ ไทยยังใช้ประโยชน์จากความตกลง โดยใช้เปรูเป็นประตูการค้าการลงทุนไปสู่ภูมิภาคอเมริกาใต้ ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ