ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบสกุลเงินหลักๆ จากข่าว FED ชะลอใช้มาตรการกระตุ้นศก.

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 24, 2009 07:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐและหันเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวภายหลังการประชุมว่าจะชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

บลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.37% เมื่อเทียบกับยูโรที่ 1.4733 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.4787 ยูโร/ดอลลาร์ และดิ่งลง 0.20% เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 91.310 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 91.130 เยน/ดอลลาร์

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้น 0.26% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0263 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.0236 ฟรังค์/ดอลลาร์ และขยับขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับปอนด์ที่ 1.6350 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.6353 ปอนด์/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.40% แตะที่ 0.8698 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันอังคารที่ 0.8733 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดีดตัวขึ้น 0.04% แตะที่ 0.7191 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7188 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

โลรองต์ เดอบอยส์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Montreal of Fjord Capital กล่าวว่า ในช่วงแรกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงหลังจากเฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0-0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

แต่หลังจากนั้นไม่นานดอลลาร์สหรัฐเริ่มดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากเฟดประกาศว่าจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้ โดยการขยายเวลาการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงแฟนนี เม และเฟรดดี แมค วงเงินรวม 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ และขยายเวลาการเข้าซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล วงเงินรวม 2 แสนล้านดอลลาร์ ไปถึงแค่ไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2553

"การที่เฟดยังคงเข้าซื้อตราสารหนี้และพันธบัตรสะท้อนให้เห็นว่า คณะกรรมการเฟดยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากนัก แต่การที่เฟดแถลงว่าจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าเฟดวางแผนที่จะยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ" เดอบอยส์กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายโดมินิก สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่ม G20 ยังคงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้พ้นจากภาวะถดถอย พร้อมกับเตือนว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่สิ้นสุดลงในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ