Hot News In USA: เฟดส่งสัญญาณยุติมาตรการฟื้นศก.-ประชุมสมัชชายูเอ็น-จับตาประเด็นร้อนประชุม G20

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 24, 2009 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวฮ็อตล่าสุดในสหรัฐในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการประชุม G20 ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐตัดสินใจที่จะชะลอการการเข้าซื้อตราสารหนี้ ด้วยการขยายเวลาการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล วงเงิน 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ และขยายเวลาการเข้าซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2553

โลรองต์ เดอบอยส์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Montreal of Fjord Capital กล่าวว่า การขยายระยะเวลาในการเข้าซื้อตราสารหนี้ไปจนถึงแค่ไตรมาสแรกของปีหน้าได้จุดกระแสความวิตกกังวลว่า ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของเฟดอาจปูทางไปสู่การใช้แผนยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งท่าทีของเฟดในครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลง 81.32 จุด หรือ 0.83% แตะที่ 9,748.55 จุดเมื่อคืนนี้ และยังส่งผลกระทบไปถึงตลาดหุ้นอื่นๆในยุโรปด้วย

แถลงการณ์ดังกล่าวของเฟดมีขึ้นภายหลังการประชุมระยะเวลา 2 วันเสร็จสิ้นลงเมื่อคืนนี้ โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0-0.25 % ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น

นอกจากนี้ เฟดยังได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากทรุดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงก่อนหน้านั้น ส่วนสภาวะในตลาดการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ส่วนในเรื่องเงินเฟ้อนั้น เฟดเชื่อว่าจะอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ แต่เฟดยังคงยืนยันเป้าหมายเดิมคือการใช้เครื่องมือทุกด้านในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ควบคู่ไปกับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ

*ดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวทันทีหลังเฟดส่งสัญญาณอาจยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ฟื้นตัวขึ้นทันทีเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลก เนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าถือครองดอลลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หลังจากคณะกรรมการเฟดส่งสัญญาณว่าอาจยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดในเวลานี้คือขยายเวลาการเข้าซื้อตราสารหนี้ไปจนถึงแค่ไตรมาสแรกของปีหน้า

การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำตลาด COMEX และสัญญาน้ำมันดิบถูกแรงขายกระหน่ำลงอย่างแรง เพราะสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นทำให้สัญญาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้มีราคาแพงขึ้นด้วย

*FED ชิงสยบกระแสตื่นตระหนกในตลาด ด้วยการจัดประชุมร่วมกับดีลเลอร์ตราสารหนี้

ก่อนที่เฟดจะตัดสินใจออกแถลงการณ์ชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้ในการประชุมเมื่อคืนนั้น เฟดได้ชิงใช้แผน "สยบกระแสความตื่นตระหนก" เอาไว้ก่อนแล้ว ด้วยการจัดการประชุมร่วมกับดีลเลอร์ตราสารหนี้ในประเทศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงเหตุผลในการยุตินโยบายอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงินซึ่งเฟดได้นำมาใช้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ เฟดยังหารือกับดีลเลอร์เรื่องแผนการใช้ข้อตกลงสัญญาขายคืน (Reverse Repo) หรือธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ เพื่อระบายเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ออกจากระบบเศรษฐกิจ

หลุยส์ แครนดอลล์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท Wrightson ICAP LLC ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำในรัฐนิวเจอร์ซี กล่าวว่า "เฟดเกรงว่าการเร่งยุตินโยบายอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการเงินอย่างรวดเร็วเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงเลือกใช้วิธีระบายเม็ดเงินออกจากระบบการเงินโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว และเลือกดำเนินการก่อนที่เศรษฐกิจจะถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ"

*"หู จิ่นเทา" ขึ้นเวทีปราศรัยในที่ประชุมสมัชชายูเอ็น

จีนได้ให้คำมั่นเป็นครั้งแรกจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้สัดส่วนกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ได้กล่าวในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่นิวยอร์กว่า จีนจะลดความหนาแน่นของโรงงานและโรงไฟฟ้าต่างๆในประเทศลง แต่ไม่ได้มีการระบุถึงเรื่องจำนวนหรือตัวเลขเป้าหมายที่แน่นอน ส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาว่า แนวคิดดังกล่าวไม่มีรายละเอียดมากพอ

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีนยังได้กล่าวปราศรัยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติหรือยูเอ็นด้วยว่า ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำควรจะใช้มาตรการที่มีความรับผิดชอบในการรับมือกับวิกฤตการเงินในระดับสากล รวมทั้งต่อต้านลัทธิการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และร่วมมือกันผลักดันให้การเจรจาผ่านองค์กรการค้าโลกประสบผลสำเร็จในการลดกำแพงการค้า นอกจากนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วควรจะเปิดตลาดรับประเทศกำลังพัฒนา และลดหรือยกเลิกกำแพงภาษีกับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้

เอเลียต ไดริงเกอร์ เจ้าหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ต่างประเทศของ Pew Center on Global Climate Change กล่าวว่า หากพิจารณาตามแนวคิดดังกล่าวแล้ว เรียกได้ว่าเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ แต่ก็ยังมีคำถามตามมาว่าเป้าหมายที่จีนจะกำหนดขึ้นมานั้นจะมากน้อยเพียงใด และประเทศที่เข้าประชุมจะเต็มใจที่จะปฏิบัติตามหรือไม่

ประธานาธิบดีจีนกล่าวต่อไปว่า จีนจะตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆหน่วยของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และจีนจะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ต่อหน่วย GDP ให้ได้มากภายในปี 2563 จากระดับ 2548

*จับตาประชุม G20 เวทีพิสูจน์ความ "ใจถึง" ของเหล่าผู้นำในการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก

ก่อนที่การประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐ อังกฤษ สหภาพยุโรป อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ และตุรกี จะเริ่มต้นในวันนี้ที่เมืองพิตส์เบิร์ก ประเทศสหรัฐนั้น เหล่าผู้นำกลุ่ม G20 ได้ออกมาแย้มเนื้อหาที่ตนเองจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในที่แห่งนี้กันเป็นระลอก โดยเฉพาะจีนที่แสดงออกอย่างมากว่าต้องการใช้เวที G20 โจมตีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการตีตราว่าวิกฤตการณ์การเงินในปัจจุบันเป็นผลมาจากความอ่อนแอของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในระบบทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ

เจตนารมณ์อันแรงกล้าในเรื่องนี้ ออกจากปากของนางหู เสี่ยวเหลียน รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ที่ลุกขึ้นวิเคราะห์ว่า การที่ประเทศเกิดใหม่ในเอเชียแทบไม่มีทางเลือกด้านการลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนในดอลลาร์นั้น ทำให้เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลง ประเทศในเอเชียก็ขาดทุนด้วย นอกจากนี้ นางหูยังเตรียมเสนอที่ประชุม G20 ให้จัดตั้งกองทุนบริหารความมั่งคั่ง (SWF) ข้ามชาติเพื่อลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการณ์การเงินระลอกใหม่ และจะแสดงจุดยืนสนับสนุนให้ทั่วโลกใช้สกุลเงิน SDR (special drawing right) แทนค่าเงินดอลลาร์

ด้านนายโดมินิก สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่ม G20 ยังคงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้พ้นจากภาวะถดถอย พร้อมกับเตือนว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่สิ้นสุดลงในขณะนี้

"เศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนเกินวิกฤตการณ์ และยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดว่าวิกฤตเศรษฐกิจสิ้นสุดลงแล้ว" สเตราส์-คาห์น กล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่วอชิงตันก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุม G20 ที่เมืองพิตต์สเบิร์กในวันพรุ่งนี้

ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้ธนาคารกลางกลุ่ม G20 ลดยอดขาดดุลการค้าและในใช้นโยบายกระตุ้นการลงทุน หลังจากตัวเลขขาดดุลการค้าและภาวะการลงทุนฝืดเคืองเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติสินเชื่อ โดยระบุว่าการที่จีนเข้ามามีบทบาทสำคัญในไอเอ็มเอฟทำให้เกิดความร่วมมือในขอบข่ายที่กว้างขึ้น

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า กลุ่มผู้นำในที่ประชุม G20 จะกระตุ้นบรรดาผู้นำของนานาประเทศใช้มาตรการยกเครื่องการกำกับดูแลด้านการเงินครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 แต่ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าการดำเนินการเช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการและราคาหุ้นของธนาคารทั่วโลก รวมถึงโกลด์แมน แซคส์ และบาร์เคลย์ส



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ