น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.50 เป็นต้นมา ส่งผลให้การค้าไทย-ญี่ปุ่น และการส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวมากขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรก(ม.ค.-มิ.ย.52)มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 17,207 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 7,079 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้า 10,127.64 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนการให้บริการตรวจและรับรองแหล่งกำเนิดสินค้านั้น กรมฯ ได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า 44,208 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ 2,477.99 ล้านดอลลาร์ และผู้ส่งออกขอใช้สิทธิภายใต้ความตกลง 1,985.01 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 80.11% ของมูลค่าส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิทั้งหมด มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนเพียง 57.63%
สินค้าที่ใช้สิทธิมากที่สุด ได้แก่ เนื้อไก่ และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย, กุ้งที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย, กุ้งกุลาดำ, กุ้งก้ามกรามแช่แข็ง แหนบรถยนต์ เป็นต้น
สำหรับข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.48 เป็นต้นมานั้น ในช่วงครึ่งปีแรก มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 5,216.59 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออก 3,536.93 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และนำเข้า 1,679.66 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อน ทำให้ไทยยังคงได้ดุล 469.03 ล้านดอลลาร์
ส่วนการใช้ประโยชน์จากความตกลงนั้น ได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า 22,646 ฉบับ มีมูลค่า 2,652.70 ล้านดอลลาร์ และมีการขอใช้สิทธิ 1,828.70 ล้านดอลลาร์ หรือ 68.95% ของมูลค่าส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ สินค้าที่ใช้สิทธิมาก ได้แก่ รถยนต์ที่มีเครื่องสันดาปภายในชนิด จี.วี.ดับบลิว น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน รถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล ชนิด จี.วี. ดับบลิว น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน, หลอดหรือท่ออื่น ๆ เป็นต้น
"ที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิส่งออกภายใต้เอฟทีเอฉบับต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะสินค้าไทยจะได้เปรียบคู่แข่งที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอกับประเทศคู่เอฟทีเอของไทยจากการไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรือเสียในอัตราต่ำกว่าคู่แข่ง และทำให้สินค้าไทยส่งออกได้มากขึ้น" น.ส.ชุติมากล่าว