เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ที่ประชุมกำลังหารือกันเรื่องแผนที่จะเปิดทางให้ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงจีน ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
รายงานระบุว่า ประเด็นสำคัญในการประชุม G20 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 ก.ย. ครอบคลุมถึงข้อเสนอของสหรัฐที่ต้องการให้ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เข้าไปมีสิทธิออกเสียงในธนาคารโลกเพิ่มขึ้นอีก 3% ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงจีนจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และสถาบันระดับโลกแห่งอื่นๆ ในฐานะประเทศที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของโลก
นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่เมืองพิทซ์เบิร์กในวันนี้ว่า "การสนับสนุนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ถือเป็นสิ่งที่ควรทำและควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป"
บลูมเบิร์กรายงานว่า จีนแซงหน้าเยอรมนีขึ้นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยมูลค่าจีดีพีที่สูงถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยปัจจุบันจีนมีสิทธิในการออกเสียงในคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟเพียง 3.7% เทียบกับระดับ 3.2% สำหรับซาอุดิอาระเบียซึ่งเศรษฐกิจของประเทศมีขนาดเพียงประมาณ 1 ใน 8 ของจีน
โจ มาเรีย เกรสเกรเบอร์ นักวิเคราะห์จาก New Rules for Global Finance Coalition ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรในสหรัฐ กล่าวว่า การที่ผู้นำกลุ่ม G20 ชูประเด็นโครงสร้างของไอเอ็มเอฟมากกว่าแต่ก่อนก็เพราะความวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และคาดว่าผู้นำส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของสหรัฐที่ต้องการให้ประเทศกลุ่มนี้มีสิทธิออกเสียงมากขึ้นอีก 3% ในธนาคารโลก