ทัศนียภาพใจกลางกรุงปักกิ่งดูเหมือนจะแปรผันไปตามกาลเวลา จากเส้นขอบฟ้าของมหานครที่เคยราบเรียบในอดีต บัดนี้กลับมีตึกระฟ้ารูปทรงสูงแปลกตาผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด เสมือนเป็นถ้วยรางวัลการันตีความสำเร็จของพญามังกร ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสวยหรูถึง 7.9% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ขณะที่พญาอินทรีอย่างสหรัฐ ยังคงปีกหักจากวิกฤตการณ์ในตลาดเงิน
การสร้างตึกสูงระฟ้ามีเหล็กกล้าเป็นรากฐานฉันใด การสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจต้องมี "อุตสาหกรรมเหล็ก" เป็นหัวใจฉันนั้น อุตสาหกรรมนี้จึงเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไล่ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่พัฒนาอาคารสูงเสียดฟ้าขึ้นกลางย่านธุรกิจ รวมไปถึงภาคการผลิต ที่คลอดรถยนต์ราคาสูงลิบออกสู่ตลาด
ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมเหล็กจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่จีนต้องจัดระเบียบความเรียบร้อย หลังจากที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน และหมื่นพันแสนล้านตัวอักษรที่ร้อยเรียงกันอยู่ในบรรทัดต่อจากนี้ไป คือ ปัญหาและแนวทางการแก้ไขที่เกิดขึ้น ในยามที่พญามังกรกำลังเดินหน้ากระบวนการสังคายนาอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บทางเศรษฐกิจให้ยิ่งคมกริบมากกว่าเดิม
*จีนเข้าตาจน...เมื่อผลผลิตเหล็ก "ล้น" ตลาด
ประเด็นเรื่องอุปสงค์ อุปทาน กลายเป็นปัญหาโลกแตกที่อยู่คู่กับระบบเศรษฐกิจมาทุกยุคทุกสมัย เพราะความไม่สมดุลของความต้องการและผลผลิตที่เป็นกลไกพื้นฐานของตลาดจะสร้างปัญหาต่อราคาสินค้าในท้ายที่สุด ข้อมูลของสมาคมเหล็กโลกระบุว่า ผลผลิตเหล็กดิบของจีนเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 50 ล้านตัน ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าในปีนี้ กำลังการผลิตเหล็กของจีนจะอยู่ที่ 660 ล้านตัน เมื่อเทียบกับความต้องการเหล็กที่คาดว่าจะมีเพียง 470 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงลางร้ายที่ว่า เมื่อผลผลิตล้นทะลักเกินความต้องการ ราคาเหล็กในประเทศย่อมตกต่ำลง และส่งผลให้ผู้ประกอบการประสบภาวะขาดทุนไปตามๆกัน
หลี่ หยีจง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ได้ออกมาเสนอทางออกของปัญหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ให้ระงับการขยายโครงการเหล็กและสินแร่เหล็กออกไป 3 ปี งานนี้เล่นเอาบรรดาผู้ประกอบการต้องเหยียบเบรกตัวโก่ง เพราะเพิ่งเร่งเครื่องก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กอย่างเต็มสูบ เพื่อรองรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ดีๆ กลับต้องจอดพับโครงการเหล่านี้ไปแบบไม่ทันตั้งตัว
อีกหนึ่งแผนสกัดดาวรุ่งของรัฐบาลจีน คือ การบีบให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศจำกัดเพดานปล่อยกู้แก่บรรดาผู้ผลิตเหล็ก เพื่อสร้างแรงกดดันให้โรงงานเหล่านี้ลดกำลังการผลิตลง ด้วยหวังว่าจะส่งผลดีต่อภาวะอุปสงค์และอุปทาน
*เหล็กทำจีนตกที่นั่งลำบาก...หลังถูกตราหน้าในข้อหาปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เป็นธรรมดาที่ความเจริญก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรมเหล็กจะเคลื่อนตัวผกผันกับธรรมชาติอันบอบบางที่มักถูกกลืนกินอยู่เสมอ ควันที่พวยพุ่งจากปล่องโรงถลุงเหล็ก คือสัญญาณการขับเคลื่อนอนาคตของจีนก็จริง แต่อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงมลพิษทางอากาศที่อาจคร่าชีวิตผู้คนได้เช่นกัน
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า เมืองใหญ่สี่แห่งของจีนติดอันดับสิบเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด และนับวันปัญหาของจีนจะแผ่ขยายกลายเป็นปัญหาของโลก โดยขณะนี้จีนได้กลายเป็นผู้นำในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งๆที่กระแสเห่อใช้รถยนต์ยังอยู่แค่ช่วงเริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ
เมื่อสถานการณ์ออกมาในรูปนี้ สมาคมเหล็กและเหล็กกล้าจีนจึงเตรียมผลักดันให้มีการใช้ระบบการจดทะเบียนนำเข้าสินแร่เหล็ก เพื่อควบคุมบริษัทที่เป็นต้นตอการปล่อยมลภาวะจำนวนมาก แต่มีความสามารถในการผลิตต่ำ รวมไปถึงโรงหลอมเหล็กที่มีกำลังการผลิตล้าสมัยและไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันจีนมีบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติการนำเข้าสินแร่เหล็กมากถึง 112 แห่ง
*ปัญหาลูกหลานพันธุ์มังกรว่างงาน...อีกหนึ่งคลื่นใต้น้ำระลอกใหญ่
แม้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของจีนจะสร้างความอู้ฟู่ให้แก่ประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความมั่งคั่งเหล่านั้นจะเป็นหลักประกันความราบรื่นในภาคอุตสาหกรรมเหล็กเสมอไป ปัญหาคนว่างงานยังคงเปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ ที่พร้อมระเบิดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ จากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา พนักงานของบริษัททงฮวา ไอรอน แอนด์ สตีล กรุ๊ป รัฐวิสาหกิจเหล็กจีนในมณฑลจีหลินก่อหวอดประท้วงแผนการควบรวมกิจการของบริษัทเจี้ยนหลง ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กเอกชนในปักกิ่ง การประท้วงครั้งนั้นรุนแรงถึงขั้นที่ว่า เจ้าของบริษัทต้องจบชีวิตลง เพื่อสังเวยความเครียดที่พวกคนงานกลัวว่าจะถูกปลดออกจากงานหากการควบรวมกิจการดำเนินไปตามแผน แต่วิธีการเชือดไก่ให้ลิงดูครั้งนี้เหมือนจะเป็นผล เพราะหลังจากนั้น รัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลจีหลินก็ตัดสินใจพับแผนควบรวมกิจการไปตามระเบียบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสองวันก่อน (23 ก.ย.) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีนได้ไฟเขียวแผนควบรวมกิจการบริษัทย่อย 3 แห่งของเหอเป่ย ไอรอน สตีล กรุ๊ป ผู้ประกอบการเหล็กรายใหญ่อันดับ 2 ของจีนอันประกอบด้วยถังซาน ไอรอน แอนด์สตีล, ฮานตัน ไอรอน แอนด์ สตีล และเจิ้งเต๋อซินซินวานา ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ เป็นไปตามแผนการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กของจีน นอกจากนี้ เหอเป่ย ไอรอน ยังมีแผนที่จะนำฉวนสตีล และหวูหยาง สตีล ควบรวมกิจการกับบริษัทลูกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย
*แผนซื้อหุ้นธุรกิจเหล็กในริโอฯเป็นหมัน...และหวิดทำจีนฝันสลาย
ความใฝ่ฝันของจีนที่ต้องการลงทุนด้านโครงการสินแร่เหล็กในต่างประเทศกลับพังทะลายลง จากกรณีที่บริษัทริโอ ทินโต เหมืองลูกครึ่งอังกฤษ-ออสเตรเลีย ปฏิเสธข้อเสนอจากบริษัท อลูมิเนียม คอร์ป ออฟ ไชน่า (ไชนาลโค) เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ต้องการลงทุนกว่า 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เม็ดเงินจำนวนนั้นนับว่าเป็นการลงทุนต่างประเทศของจีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อหลายแขนง รวมถึงนิตยสาร Business Week ฉบับเดือนก.ย.ที่ระบุข้อความเปรียบเปรยของ Beijing Times ไว้ว่า "ริโอก็เหมือนผู้หญิงที่คิดไม่ซื่อ เธอรักแต่เงินของไชนาลโค แต่ไม่เคยมีใจให้เจ้าของเงินเลย"
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจีนจะยังไม่เข็ดหลาบกับความผิดหวังครั้งก่อน เพราะความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของจีนยังคงเป็นแรงผลักดันให้ความฝันที่ดูเหมือนจะสูงเกินเอื้อม กลับกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาแล้ว เมื่อบริษัท เป๋าสตีล บริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ของจีนตกลงซื้อหุ้น 15% ของบริษัท Aquila Resources Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจสินแร่เหล็กและถ่านหินรายใหญ่ของออสเตรเลีย มูลค่า 286 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (240 ล้านดอลลาร์) เพื่อเพิ่มโครงการลงทุนของบริษัทในออสเตรเลีย ด้วยความปรารถนาที่จะบั่นทอนฐานที่มั่นและสลายอำนาจการเป็นบริษัทเหมืองแร่ที่อยู่ในกำมือของบีเอชพี บิลลิตัน ริโอ ทินโต และเวล สามบริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ของโลกให้ร่อยหรอลงไป
มาร์ค เพอร์แวน กูรูชื่อคุ้นหูในแวดวงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จากบริษัทออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง คอร์ปกล่าวว่า จีนต้องการทำทุกวิถีทาง เพื่อให้บริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ของโลกมีผลผลิตลดลง ขณะที่โจว ซีเจง นักวิเคราะห์จากบริษัทซิติค ซีเคียวริตี้ของจีนมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นข่าวดีสำหรับเป๋าสตีลที่จะมีแหล่งสินแร่เหล็กและถ่านหินอยู่ในมือ เพราะตอนนี้การซื้อหุ้นในบริษัทเหมืองแร่เหล็กรายใหญ่จากบริษัทของจีนยังทำได้ยาก ดังนั้น การถือหุ้นในบริษัทเหมืองขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก จะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นไปได้มากกว่า ที่สำคัญโอกาสที่จีนจะสามารถยกเลิกการผูกขาดสินแร่เหล็กในออสเตรเลียก็มีอยู่สูงทีเดียว
จากแสนยานุภาพด้านการผลิตของจีน อันกอปรขึ้นจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแรงงานจำนวนมหาศาล บนแผ่นดินที่ชื่อได้ว่ามีประชากรมากที่สุดในโลก ล้วนเป็นเบ้าหลอมให้อุตสาหกรรมเหล็กของจีนก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15 ซึ่งจีนยังเรืองรองด้วยอารยธรรม ดังจะเห็นได้จากสถาปัตยกรรมก่ออิฐโครงไม้ของพระราชวังต้องห้าม ที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง มาวันนี้โฉมหน้าของจีนในศตวรรษที่ 21 กลายเป็นประเทศที่มีความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยการเป็นเจ้าของสถิติตึกสูงสุดอันดับ 3 ของโลกอย่างอาคารเซี่ยงไฮ้ เวิลด์ ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ และการก่อสร้างสำนักงานทางธุรกิจในมหานครที่ไม่เคยหลับไหล ภายใต้สายตาการบริหารบ้านเมืองของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา
...และนี่คือบทสรุปของอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ทั่วโลกยังคงต้องจับตาในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งองคาพยพซึ่งช่วยเกื้อหนุนให้พญามังกรสามารถเคลื่อนไหวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม และเยื้องย่างอย่างทรนง...