(เพิ่มเติม) สศค.คงคาดการณ์ GDP ปี 52 ที่ติดลบ 3% ส่วนปี 53 คาดโต 2.5-4.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2009 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ปี 52 ไว้ที่เฉลี่ยติดลบ 3% ตามที่เคยประเมินไว้ในเดือนมิ.ย.52 โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงติดลบราว 3-4% ในช่วงไตรมาส 3/52 ก่อนที่จะพลิกฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ 3-4% ในช่วงไตรมาส 4/52 และจากนั้นคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า GDP ปี 53 จะขยายตัวในช่วง 2.5-4.1%

"แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรก แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง และกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน" นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่จะต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี หลังจากที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงใน 5 ปัจจัยหลัก คือ ราคาน้ำมัน ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน จึงต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด, อัตราแลกเปลี่ยน มีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หากค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านจะกระทบผู้ส่งออก ดังนั้น ต้องดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้าน

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็งที่ต้องติดตามการเบิกจ่ายอย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญหากไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย ,เสถียรภาพการเมือง หากการเมืองยังนิ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยไม่มีปัจจัยมากระตุกให้เศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนในด้านเศรษฐกิจโลก ต้องติดตามการฟื้นตัวว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ หรือจะมีวิกฤติเศรษฐกิจโลกระลอก 2 หรือไม่

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า สศค.ได้มีการวิเคราะห์ว่าหากราคาน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงทุก 1 ดอลลาร์/บาร์เรล มีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจของไทยราว 0.2% ขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าลงทุก 1 บาท/ดอลลาร์ จะมีผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.3% การใช้จ่ายรัฐบาลทุก 1 แสนล้านบาทจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหากมีการเปลี่ยนแปลง 1% จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย 1.4%

"ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดภาวะฟองสบู่อย่างแน่นอน เพราะ การปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ มีน้อย และมีการเก็งกำไรน้อย" นายเอกนิติ กล่าว

สศค.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่ายังจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปีนี้ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาขยายตัว 4.2% ต่อปี เนื่องจากคาดว่ารายได้ของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ประกอบกับ จำนวนการจ้างงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานน่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาขยายตัวจากฐานที่ต่ำเช่นกัน รวมทั้งจากผลของการใช้จ่ายในโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่ายังอยู่ในระดับต่ำจะเอื้อให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการจะกลับมาขยายตัว 5.6% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและฐานที่ต่ำในปีก่อน ส่วนนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นที่ 12.4% ต่อปี เป็นผลจากทั้งการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ