(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ส.ค.อยู่ที่ 88.0 ลดจาก 89.9 ใน ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสากรรมในเดือน ส.ค.อยู่ที่ 88.0 ลดลงจาก 89.9 ในเดือน ก.ค. โดยสาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงเป็นผลจากการยอดคำสั่งซื้อ, ยอดขาย, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการลดลงเนื่องจากบางอุตสาหกรรมมีการสต็อกสินค้าสูงในระดับหนึ่ง ประกอบกับวัตถุดิบของหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอคำสั่งซื้อ

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่ระดับ 96.7 เนื่องจากคาดว่าผลประกอบการในช่วงนั้นจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความหวังต่อสถานการณ์การค้าว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี สอดคล้องกับการวัดปัจจัยที่มีผลต่อความกังวลของผลประกอบการของสภาอุตสาหกรรม พบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกลดลง และคงคาดหวังต่อสถานการณ์การฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่านี้

ส่วนสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ พบว่า ผลกระทบด้านราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรกในช่วงเดือนส.ค. รองลงมา คือ ผลกระทบจากการเมืองในประเทศ, สภาวะเศรษฐกิจโลก, อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยลำดับที่เปลี่ยนไปจากเดือนก.ค. คือเรื่องของการเมืองในประเทศ ที่ผู้ประกอบการแสดงถึงกังวลมากกว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมาจากข่าวการเมืองที่ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มไม่มั่นใจในความมั่นคงของรัฐบาล ส่วนประเด็นเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการมีความกังวลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจโลกลดลงจากอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงแสดงความกังวลอยู่ในด้านของเสถียรภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันและมีนโยบายส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน รวมทั้งเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ามากกว่านี้ ควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และให้การสนับสนุนทางการเงินด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เร่งรัดให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออก และช่วยหามาตรการทางภาษีเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนธุรกิจของผู้ส่งออก-นำเข้า



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ