IMF เพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลก คาดขยายตัว 3.1% ปีหน้า หนุนรบ.ใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระมัดระวัง

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 1, 2009 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น แต่เตือนว่ารัฐบาลทั่วโลกควรใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง และไม่ควรยุติการใช้มาตรการเร็วเกินไป

ไอเอ็มเอฟเปิดเผยในรายงาน World Economic Outlook ว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 3.1% ในปีพ.ศ.2553 ซึ่งเป็นสถิติที่ขยายตัวรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.1% เพราะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนและอินเดียจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนเศรษฐกิจโลก ส่วนในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงเพียง 1.1% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัว 1.4%

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟมั่นใจว่าภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลกกำ ลังทุเลาลง แม้อัตราว่างงานยังคงพุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะภาคการผลิตทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟเตือนว่ารัฐบาลทั่วโลกยังไม่ควรยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปยังคงเปราะบาง และยอดขาดดุลทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลใช้งบประมาณไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก

"ทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มเป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่นที่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอุตสาหกรรมส่งออกของทั้ง 3 ประเทศฟื้นตัวขึ้นหลังจากรัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ดีมานด์สินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่รัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการกู้วิกฤตในภาคธนาคารและการเงิน รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ ยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้นด้วย" นายโอลิวิเอร์ บลองชาร์ด ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟกล่าว

ถึงกระนั้นก็ตาม ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายหลายด้านในปีหน้า ซึ่งหนึ่งในปัญหาเหล่านี้คือการที่รัฐบาลมีมุมมองที่เป็นบวกมากเกินความเป็นจริง จนเป็นเหตุให้ตัดสินใจใช้มาตรการล่าช้า ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆคือภาวะดีมานด์อ่อนแอของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ รวมถึงสหรัฐ ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจกลายเป็นดาบสองคม เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและหนี้สินของรัฐบาลที่พุ่งสูงขึ้นได้ แต่หากยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไป ภาคการเงินก็จะอ่อนแอและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ

เอพีรายงานว่า ในช่วงท้ายของรายงานฉบับดังกล่าว ไอเอ็มเอฟแนะนำประเทศทั่วโลกว่า เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวเหมือนกับในช่วงทศวรรษที่ 1930 รัฐบาลควรริเริ่มโครงการระยะยาวและระยะสั้นเพื่อกระตุ้นอัตราการอุปโภคบริโภคและการลงทุน ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน ส่วนประเทศที่มียอดเกินดุลการค้ามากเกินไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากยอดส่งออกที่มีมากกว่ายอดนำเข้า ก็ควรปรับยุทธศาสตร์ด้านการค้าแบบใหม่ด้วยการกระตุ้นอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างสอดคล้องกับยอดส่งออก



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ