(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ย.52 ลดลง 1.0%,Core CPI ลดลง 0.1% จากปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 1, 2009 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 105.3 ลดลง 1.0% จากเดือน ก.ย.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือน ส.ค.52 ส่วน CPI เฉลี่ยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.52) ลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ระดับ 102.6 ลดลง 0.1% จากเดือน ก.ย.51 และเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือน ส.ค.52 และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.52) ยังเพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 117.2 เพิ่มขึ้น 0.9% จากเดือน ก.ย.51 และเพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน ส.ค.52 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 97.6 ลดลง 2.7% จากเดือน ก.ย.51 และลดลง 0.2% จาก ส.ค.52

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อปี 52 อยู่ที่ -1 ถึง 0% ตามเดิม เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ-เงินบาทยังอยู่ในกรอบสมมติฐานเดิม

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า CPI เดือนก.ย.52 ที่สูงขึ้น 0.2% จากเดือนส.ค.52 เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาอาหารและสินค้าบางชนิดที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว ผักและผลไม้ ไก่สด ปลา สัตว์น้ำ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง เช่น ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ, เนื้อสุกร และเครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น

ขณะที่ CPI ในเดือนก.ย.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลง 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 มีสาเหตุมาจากการดัชนีราคาหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารลดลง 8.8% หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและศาสนา ลดลง 10.1% และหมวดเครื่องนุ่งห่ม ลดลง 3.4%

ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.9% จากสินค้าเนื้อสุกร, ปลาและสัตว์น้ำ, ไข่, ผลิตภัณฑ์นม, ผัก-ผลไม้, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น คือ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 13.7% หมวดเคหสถานสูงขึ้น 4.4%, และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 1.3%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค.52 ของแต่ละประเทศในภูมิภาค เป็นดังนี้ มาเลเซีย -2.4%, ฟิลิปปินส์ 0.1%, อินโดนีเซีย 2.8%, สิงคโปร์ -0.3%, จีน -1.2%, ญี่ปุ่น -2.2% และเวียดนาม 2%

รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 52 จะยังอยู่ในกรอบเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ -1 ถึง 0% เนื่องจากสมมติฐานสำคัญ 2 ปัจจัยยังคงอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ คือ สมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 9 เดือนอยู่ที่ 57.19 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันอยู่ที่ 34.63 บาท/ดอลลาร์

"เรายังเชื่อว่าเงินเฟ้อทั้งปีนี้จะยังอยู่ในกรอบเดิมที่วางไว้คือ -1 ถึง 0% เพราะผลของปัจจัยสำคัญ 2 ตัว คือ ราคาน้ำมันดิบดูไบ และอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ ยังอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ตั้งไว้" นางพิมพาพรรณ ระบุ

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงต่อจากนี้ คือไตรมาส 4/52 เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อแต่ละเดือนจะมีแนวโน้มเป็นบวกได้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปี 53 เชื่อว่าจะเป็นบวกอย่างแน่นอน ส่วนจะบวกมากน้อยเพียงใดนั้นต้องขึ้นอยู่กับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ และอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้าที่จะนำมาคำนวณ ซึ่งคาดว่าในเดือนหน้า(พ.ย.52) กระทรวงพาณิชย์จะสามารถประกาศอัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 53 ได้



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ