วิจัยกสิกรฯ คาดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะพลิกเป็นบวกได้ตั้งแต่ต.ค.52

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 1, 2009 18:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) จะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนต.ค .และอาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยปัจจัยที่สำคัญเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ราคาน้ำมันน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากระดับในปัจจุบัน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจไปแตะระดับ 4% ในเดือนธ.ค.52

อย่างไรก็ดี สภาวะเศรษฐกิจไทยที่น่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป น่าจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์ยังมีไม่สูงนัก เนื่องจากสถานการณ์ตลาดยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ยังมีระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย.52 ลดลง 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าหากเทียบกับเดือนส.ค.52 จะเพิ่มขึ้น 0.2% เนื่องจากราคาสินค้าอาหารหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน แม้ว่าลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงอยู่ภายนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่กำหนดไว้ที่ 0.5-3.0% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่เมื่อเทียบกับเดือนส.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

"ทิศทางเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับต่ำนี้ สอดคล้องกับสภาวะตลาดผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังอยู่ภายนอกกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธปท.ไปจนถึงปลายปี 52 ขณะที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหนือ 0.5% เล็กน้อยในช่วงไตรมาส 1/53 ซึ่งทิศทางดังกล่าวน่าจะยังคงเอื้ออำนวยให้ ธปท.มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปได้อย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาส 1/53 นอกจากเป้าหมายในการดูแลเสถียรภาพราคาแล้ว ธปท.ยังมีโจทย์ที่สำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง ขณะที่ต้องดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้พร้อมกันไปด้วย

สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามนับจากนี้ คือ สภาพอากาศที่มีฝนตกมากและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาจสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกก็อาจจะเผชิญปัจจัยในลักษณะเดียวกัน โดยเพื่อนบ้านหลายประเทศในภูมิภาคนี้ก็ประสบปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งสถานการณ์อาจรุนแรงมากกว่าไทยด้วย นอกจากนี้ยังต้องติดตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการนำเข้าของประเทศจีน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ