นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดว่า ที่ประชุม G-7 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี จะได้มีการหารือกันถึงความจำเป็นในการยกเลิกมาตรการสนับสนุนตลาดเงินที่มีการใช้งานมานานถึง 30 ปี
หลังจากที่ที่ประชุม G-20 ได้กำหนดบทบาทของที่ประชุมให้เป็นเวทีการประชุมนโยบายเศรษฐกิจโลกไปแล้ว ที่ประชุม G-7 ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศต่างๆอาจจะยุติแบบแผนเดิมๆ และเลือกที่จะไม่ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและสกุลเงินต่างๆ แนวโน้มดังกล่าวอาจจะทำให้เทรดเดอร์เลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นที่ปกติผู้บริหารระดับนโยบายมักจะใช้กันบ่อยๆเพื่อสร้างอิทธิพลต่ออัตราแลกเปลี่ยน
การหารือถึงเรื่องบทบาทของที่ประชุม G-7 เกิดขึ้นหลังจากที่นายฌอง คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป และมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดาได้ออกมาส่งสัญญาณแสดงความเป็นห่วงเรื่องเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา และรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นเองก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องของเงินเยนได้ โดยความหลากหลายในการประชุม G-20 ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดียด้วยนั้น อาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า นักลงทุนอาจจะต้องรับมือกับสัญญาณที่มีความขัดแย้งกัน ขณะที่ประเทศสมาชิกพยายามหาข้อสรุปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
บลูมเบิร์กรายงานว่า สตีเฟน เจน กรรมการผู้จัดการของบลูโกลด์ แคปิตอล เมเนจเมนท์ กล่าวว่า ต่อไปอาจจะมีความยากลำบากในเรื่องการสื่อสาร เนื่องจากผู้บริหารหลีกเลี่ยงที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น รวมถึงเรื่องการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาด และคงจะต้องใช้การประชุม G-7 และ G-20 อีกหลายรอบกว่าที่จะสามารถสรุปความคิดเห็นให้เป็นหนึ่งเดียวกันในเรื่องสกุลเงินต่างๆได้
เงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์หลังจากที่ประธานธนาคารกลางยุโรประบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติและทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โยเงินยูโรร่วงลงถึง 0.9% แตะ 1.3148 ดอลลาร์ต่อเยน หลังจากที่แข็งค่าขึ้นแล้ว 16% นับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา