ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกปี 52 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของระบบสถาบันการเงิน (ไม่รวมบริษัทลูก) เพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 10,795 ล้านบาท จากสิ้นปี 51 คิดเป็นอัตราการเติบโต 2.89% และเพิ่มขึ้น 9.94%เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
แต่ยอดขายรถยนต์ แต่ก็ยังเป็นบวกเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพิเศษเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการลีสซิ่งรายเล็กที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงินของธนาคารขนาดเล็ก แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีที่หดตัวลงถึง 27.74% หรือลดลง 88,855 คัน เป็น 231,429 คัน ประกอบกับคุณสมบัติของผู้กู้ยืมด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง ส่งผลให้อัตราการพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินมีสัดส่วนลดลงก็ตาม
สำหรับแนวโน้มธุรกิจให้เช่าซื้อช่วงที่เหลือของปี 52 จากแนวสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ความคาดหวังในเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้อาจมีส่วนช่วยหนุนอำนาจซื้อของประชาชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดให้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลดีตามมาต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศ
นอกจากนี้ หากรัฐบาลสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศได้มั่นคงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงขาขึ้น รวมถึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นได้
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี จาก 230,000-246,000 คัน เป็นประมาณ 247,000-259,000 คัน เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกที่มียอดขายรวม 231,429 คัน และส่งผลให้ยอดขายรวมทั้งปี 52 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 478,000-490,000 คัน คิดเป็นอัตราการหดตัวอยู่ในช่วง 20.0-22.0% จากปี 51
และยอดขายรถที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตาม แต่อาจอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว จึงคาดว่าแนวโน้มตลาดสินเชื่อเช่าซื้อของปี 52 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ช้าลงเป็นประมาณ 11-12% มีสาเหตุหลักจากจำนวนยอดขายรถยนต์ใหม่ต่อปีที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าอดีตเฉลี่ย 20%
นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงเครดิตที่เริ่มคลี่คลายตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ มุ่งขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่แห่งหนึ่งรุกธุรกิจอย่างหนัก โดยใช้กลยุทธ์ราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเป็นตัวนำในการขยายตลาด ทำให้บริษัทผู้นำตลาดต่างต้องตรึง หรือลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อลง แม้จะสวนกระแสทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวที่เริ่มขยับขึ้น
โดยการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับรถใหม่ต่ำสุดอยู่ที่ 2.55% และคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้จนถึงสิ้นปี 52 เทียบกับเฉลี่ย 3.08% ในปี 51 ส่วนแนวโน้มในปี 53 นั้น คาดว่าอัตราดอกเบี้ยเพื่อเช่าซื้อรถน่าจะยังเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ให้บริการ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นได้ไม่มากนัก หรือประมาณ 0.1-0.2% จากระดับประมาณ 2.55-2.65% ในปัจจุบัน บนสมมติฐานสำคัญว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืมในระบบธนาคารพาณิชย์ จะมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็อาจยังคงเป็นอัตราการขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้สภาพคล่องในระบบยังน่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อที่ค่อนข้างจำกัด อาจทำให้ช่วงที่เหลือของปี 52 ต่อเนื่องไปถึงปี 53 เป็นปีทองของผู้บริโภคที่ต้องการขอสินเชื่อเช่าซื้อรถอีกครั้ง แต่ในแง่ของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อนั้น อาจกลับได้รับผลกระทบจากมาร์จิ้นของธุรกิจที่แคบลง โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนของเงินทุนมีโอกาสขยับขึ้นชัดเจนขึ้น ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จนอาจกดดันผู้ประกอบการรายกลางและเล็กบางส่วนให้ต้องถอนตัวจากตลาดนี้เพิ่มขึ้น ภายใต้ภาวะที่มาร์จิ้นของผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อมีแนวโน้มแคบลงดังกล่าว จะเห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงหาทางออกด้วยการหันไปขยายโอกาสการทำธุรกิจรองมากขึ้น ผ่านการทำตลาดสินเชื่อที่ใช้รถยนต์เป็นหลักประกันมากขึ้น รวมถึงการเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่น เช่น การทำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อสร้างรายได้ให้ธุรกิจชดเชยมาร์จิ้นของธุรกิจหลักที่บางลง