นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)กล่าวภายหลังการรับตำแหน่งใหม่ว่า ธนาคารพร้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการบริหารจัดการที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางขับเคลื่อนภารกิจองค์กร โดยวางเป้าหมายเพื่อให้ ธ.ก.ส.เป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบการเงินการธนาคารของภาคชนบทไทยใน 4 ปีข้างหน้า เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งเงินระหว่างคนในเมืองกับชนบท
ทั้งนี้ ธนาคารเตรียมใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาทลงทุนพัฒนาระบบไอที เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต เพื่อจัดทำระบบ Core Banking พัฒนาระบบการดำเนินธุรกิจหลักของธนาคาร พัฒนาระบบเครือข่ายสื่อสาร การจัดทำระบบบัญชีเพื่อการบริหาร และการจัดทำระบบคลังข้อมูล (data warehouse) โดยแผนงานดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคารแล้ว
แผนงานในช่วง 4 ปีข้างหน้า ธนาคารวางเป้าหมายที่จะลดยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% ให้เหลือ 4% โดยกำหนดนนโยบายบริหารจัดการ NPL 3 ด้าน คือ การปลดหนี้เกษตรกรรายย่อย จากโครงการพักชำระหนี้ เป็นลูกหนี้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท มีจำนวน 3 แสนราย พบว่ามีลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพในการชำระคืนหนี้ได้ จากปัญหาสุขภาพ หรือไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้ว มีจำนวน 40,000 ราย ธนาคารจะจำหน่ายหนี้ดังกล่าวออกจากบัญชี ซึ่งไม่มีผลกระทบกับธนาคาร เนื่องจากได้มีการตั้งสำรองหนี้ครบ 100% แล้ว
การปรับโครงสร้างหนี้ โดยลูกหนี้ส่วนนี้ยังมีศักยภาพในการชำระหนี้อยู่ แต่อาจต้องมีการขยายเวลาชำระคืนหนี้ เพื่อให้ความสมดุลในการหารายได้จากผลผลิตการเกษตรกับการชำระคืนหนี้ พร้อมจัดฝึกอบรมทักษะอาชีพ เพิ่มองค์ความรู้ควบคู่ไปด้วย และการปรับเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยจากหาผู้สืบทอดหนี้ใหม่ ซึ่งอาจเป็นลูกหลาน ของลูกหนี้เดิมที่ยังต้องการยึดอาชีพการทำเกษตรต่อไป
"ในระยะต่อไป ธนาคารยังมีแผนที่จะจัดทีมบริหารสินทรัพย์ เช่นกรณีที่ลูกหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้เป็นที่ดิน ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ธนาคารก็ยึดที่ดินไว้ แต่ให้ลูกหนี้รายเดิมเช่าประกอบอาชีพ และหากเมื่อมีเงินรายได้พอ ธนาคารก็พร้อมให้มาซื้อที่ดินกลับคืนได้" นายลักษณ์ กล่าว
นอกจากนี้ในเวลา 4 ปี ธนาคารจะขยายเครือข่ายสาขา จาก 900 แห่ง เพิ่มเป็น 1,200 แห่ง เพื่อให้ลูกค้าให้เข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง พร้อมเพิ่มจุดบริการ ATM จาก 600 จุด เป็น 1,200 จุด และเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งกลุ่มสหกรณ์การเกษตร สถาบันชุมชน อีก 1,000 แห่ง
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในระยะ 6 เดือนข้างหน้า (ต.ค.52- มี.ค.53) ธนาคารพร้อมสานต่อนโยบายของรัฐบาล เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยพร้อมสนับสนุนนโยบายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปล่อยสินเชื่อในโครงการ Fast Track วงเงินรวม 22,000 ล้านบาท การดำเนินโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร เบื้องต้นได้ดำเนินโครงการประกันราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวเปลือกนาปี ปี 52/53 คาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินในโครงการไทยเข้มแข็งดำเนินการ จำนวน 42,000 ล้านบาท โดยจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.47 ล้านครัวเรือน